วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " พระราชโทรเลขและพระราชหัตถเลขา รัชชการ ๕ ที่โปรดเกล้า ฯ ถึงพระราชชายา ณ เมื่อเสด็จเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๕๑ (ร.ศ. ๑๒๗-๑๒๘) ค้นพบพระราชโท..."

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

          พระราชโทรเลขและพระราชหัตถเลขา รัชชการ  ๕ ที่โปรดเกล้า ฯ ถึงพระราชชายา ณ เมื่อเสด็จเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๕๑ (ร.ศ. ๑๒๗-๑๒๘) ค้นพบพระราชโทรเลข ๔๑ ฉะบับ พระราชหัตถเลขา ๑๗ ฉะบัย เลือกเอาบางฉะบับ นี้เป็นข้อความในหนังสือพระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เรียบเรียง พิมพ์ในงานถวายพระเพลิง ปี พ.ศ.๒๔๗๗
          ซึ่งในพระราชหัตถเลขา และพระราชโทรเลข นี้ได้แสดงถึงความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีต่อพระราชชายาฯ และพระญาติของพระราชชายาอย่างมาก และในพระราชหัตถเลขานี้เองที่บ่งบอกถึงน้ำพระทัยและความสนิทสนมที่ทรงพระราชทานต่อพระราชชายา ฯ ตลอดจนความรัก ความสนิทสนมที่พระราชชายาฯ ทรงมีต่อทุกพระองค์ในราชสำนักแห่งราชจักรีวงศ์ ซึ่งผมจะได้นำความตามในหนังสือมาเสนอกับท่านที่สนใจเป็นตอนๆ ไปดังนี้ครับ
ตอนที่ ๑ หน้าที่ ๒๘ หน้าที่ ๒๙

                           (สำเนาพระราชหัตถเลขา)
                                 วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร ศก ๑๒๗
ดารา
    นั่งนึกว่าป่านนี้คงจะไปถึงที่พักแล้ว    เพราะบ่าย ๕ โมงตรงได้
นึกจะส่งของไปทำบุญ แต่รุงรังนักก็จะพาไปลำบาก จะสั่งก็เผอิญมี
การชุนลมุน บัดนี้ได้       ให้กรมสมมติ ฯ      จัดไตรแพร ๙ ไตรส่ง
ขึ้นมา     ขอให้บังสกุลพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ๓ ไตร    พระเจ้า
อินทวิชยานนท์ ๓ ไตร เจ้าทิพเกษร ๓ ไตร ขอให้นิมนต์พระราชา
คณะ พระครู และครูบาที่เป็นผู้ใหญ่ชักผ้าไตรนี้  อุทิศให้ท่านทั้ง ๓
ผู้ได้ มีความรักใคร่คุ้นเคยกันมา
     การที่จะไปครั้งนี้เป็นระยะทางไกลให้เป็นห่วง  ด้วยเป็นเวลาต่อ
ระดูกำลังจะเปลี่ยนใหม่ ถ้าเจ็บไข้ขอให้เร่งรักษาก่อน อย่าทอดทิ้ง
ไว้มากแล้วจึงรักษา กันเสียก่อนดีกว่ารักษาเมื่อเป็นมากแล้ว
      ขออำนวยพรซ้ำอีกให้เป็นสุขสะบายอย่าเจ็บไข้  ขอฝากความ
คิดถึงและความอาลัยที่กำลังผูกอยู่ในใจเวลานี้มาด้วย ถ้าจะมีความ
ปราถนาอันใด ฤาไปดีประการใค ขอให้บอกข่าวมาให้ทราบตาม
ที่จะบอกได้ด้วย.


                 (พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.
      
               
                       (สำเนาพระราชหัตถเลขา)
                        วนที่ ๑๓ กุทภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗
ดารา
    ด้วยความคิดถึง มีช่องที่ยังจะถึงกันได้ง่าย    จึงหาเหตุว่าจะทำ
อะไรดี นึกได้ว่าหีบหนังจรเข้ ซื้อมาเมื่อไปยุโรปคราวนี้ ซึ่งลืมเสีย
แล้วนั้นมีอยู่ เรียกมาดูเห็นงามดี น่าจะใช้ใส่ผ้าตั้งไปในเรือปิกนิค
ได้ แต่มันเป็นหรั่ง ๆ อยู่หน่อย       จะแก้ไขใช้ได้ฤาไม่ก็ตาม เป็น
ของเขานับถือกันว่าดีมีราคาและงามมาก จึงให้เอาตามขึ้นมาให้
    ค่ำวันนี้ได้เอาแผนที่มากะที่จะทำเรือน   เห็นว่าจะขยายได้มาก
ยกนางวาด และนางเหม มาอยู่เสียที่เรือนทำใหม่ในเกาะ เอาสาม
บ้านนั้นรวมเป็นบ้านเดียว เรือนจะทำให้ใหญ่กินที่สวนเดิมและสวน
นางวาดหมด     ส่วนนางเหมจะรอไว้ทำเป็นสวนผะสมกับที่เดิมได้
สวนใหญ่ขึ้นมาก เห็นจะเป็นอันสบายพอเพียงได้ ตัวอย่างจะให้ฝรั่ง
คิด แต่พระยาวรพงศ์ ฯ ได้รับแข็งแรงมากว่าจะทำให้แล้วทัน.


                            (พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.

   จากสำเนาพระราชหัตถเลขา ทั้ง ๒ ฉบับ แสดงถึงความผูกพันธ์ และความใกล้ชิดห่วงใยอย่างมากกับพระราชชายา ฯ และยังทรงพระราชทานสิ่งของ ให้ พระราชชายา ฯ และทรงทราบถึงความเป็นนักอนุรักษ์ของพระราชชายา ฯ แสดงออกมาในตอนนี้ เกี่ยวกับเรื่องหีบที่ทรงซื้อมาแต่ยุโรป แต่พระราชชายยา ฯ ทรงใช้ของใช้ที่เป็นแบบล้านนาเสมอ จึงทรงแน่ะนำให้แก้ไขใช้ถ้าโปรด แม้แต่เรื่องทำสวนที่พระราชชายา ฯ ทรงโปรด เมื่อพระราชทานตำนักใหม่ ก็ตรัสถึงสวนนีด้วย และการรวมเนื้อที่ให้กว้างขึ้นพอที่จะปลุกไม้ดอก ไม้ผล ที่พระราชชายา ฯ ทรงโปรด. เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " ก่อนอื่นต้องกราบขอโทษด้วยน่ะครับที่หายไปหนึ่งวันเนื่องจากมีงานหลายๆอย่างเข้ามาแต่ผมก็จะพยายามนำเอา รายละเอียด ในหนังสือพระประวัต..."

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

            ก่อนอื่นต้องกราบขอโทษด้วยน่ะครับที่หายไปหนึ่งวันเนื่องจากมีงานหลายๆอย่างเข้ามาแต่ผมก็จะพยายามนำเอา รายละเอียด ในหนังสือพระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เรียบเรียงโดย เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ ผู้ครองนครเชียงใหม่ พิมพ์ในงานถวายพระเพลิง ปีจอ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาถ่ายทอดให้ท่านผู้สนใจได้อ่านและนำไปศึกษา ถึงการใช้ภาษา วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความใกล้ชิดระหว่างราชจักรีวงศ์ และ สกุลเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่(ณ เชียงใหม่) ในช่วงระยะ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโ
ยชน์แก่ท่านที่สนใจ เพราะหนังสือพระประวัติ พระราช ชายาฯ เล่มนี้ ปัจจุบันค่อนข้างหายาก จึงได้พยายามจะนำเสนอ จนครบบริบูรณ์ตามความในแห่งหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอาจจะยืดยาวแต่เต็มไปด้วยคุณค่าความสัมพันธ์ของแผ่นดินล้านนา และพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งในตอนนี้จะนำเสนอต่อจากตอนที่แล้ว ว่าด้วย พระราชโทรเลข พระโทรเลข โทรเลข ลายพระหัตถ์ หนังสือ ระวางประชวร และสิ้นพระชนม์ต่อจากตอนที่แล้วดัวนี้ครับ
หน้าที่ ๒๓ ถึงหน้าที่ ๒๖
                                                              โทรเลข  (ด่วน)
ที่๐๕๓๖                                                                       จากกรุงเทพ ฯ
                                                            วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
ทูล เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เชียงใหม่
               ได้รับโทรเลขแจ้งเรื่องพระราชชายา ฯ เจ้าดารารัศมี สิ้น
พระชนม์นั้นแล้ว ด้วยความเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง ได้แจ้งให้ผู้สำเร็จ
ราชการรพราชวังทราบแล้ว.
                                           (ลงนาม) พระยาพหลพลพยุหเสนา.

                                                              โทรเลข  (ด่วน)
ที่๐๕๒๕                                                                       จากกรุงเทพ ฯ
                                                            วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
ทูล เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เชียงใหม่
                 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญน้ำสรงพระศพ
โกศ และเครื่องประกอบพระอิสสริยยศขึ้นมา พระศพนั้นขอให้หล่อ
น้ำแข็งไว้ พระยาราชโกษากับพนักงานจะถึงเชียงใหม่ วันที่ ๑๑
ธันวาคม ๑๔ นาฬิกา.
                                                   (ลงนาม) วรพงศ์.

ที่ ๕๗๔                                                                        จากกรุงเทพ ฯ
                                                           วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
ทูล เจ้าหลวงเชียงใหม่
           พระราชชายา ฯ ประชวรนั้น เมื่อข้าพเจ้าทราบในทางราชการ
จากมณฑล ได้ดำเนินการไปตามหน้าที่เสมอ แต่ส่วนตัวยังไม่ทราบ
พระอาการทุกวันจนกว่าจะหายประชวรได้ เจ้ามีประสงค์จะใช้ข้าเจ้า
ประการใดอีก ตั้งใจคอยรับใช้อยู่ด้วยความเคารพ.
                                                (ลงนาม) อุดมพงศ์

                                                       (ด่วน)
ที่๐๕๒๙                                                                       จากกรุงเทพ ฯ
                                                          วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
ทูล เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ พายัพ
                      ได้รับโทรเลขข่าวสิ้นพระชนม์พระราชชายาฯ แล้ว รู้สึกเสียใจ
เศร้าใจ และเสียดายเป็นที่สุด.
                                                (ลงนาม) โกมารกุล.

                                                        หนังสือ
                                                 คลองบ้านสมเด็จ
                                                          วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
ทูล พ่อเจ้า ฯ
        ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวสิ้นพระชนม์ของพระราชชายา ฯ มีความเศร้า
สลดใจและอาลัยเหลือที่จะชี้แจงด้วยตัวหนังสือให้พอกับความเป็นจริง
ในหัวใจได้แล้ว ความจงรักษภักดีซึ่งข้าเจ้าได้เคยมี ติดต่อ มากับ
ท่านตั้งแต่ต้นตลอดมาจนถึงบัดนี้ พ่อเจ้าคงย่อมทราบดี ใคร่จะขึ้น
มาทำบุญสนองพระเดชพระคุณท่าน ก็ไม่สามารถที่จะมาได้ จึงได้
ส่งเงิน ๒๐๐ บาทเพื่อทำบุญ อยากจะทำให้มาก ๆ ก็ฉะเพาะเป็น
ยามอัตตะคัด ทั้งตัวหรือก็นอนแบบอยู่ดังนี้ จำต้องทำแต่พอตามมี
ตามเกิด ครั้นจะรอทำเมื่อถวายพระเพลิง ก็ยังนานเกรงว่าจะตาย
เสียก่อน เพราะโรคของข้าเจ้ามันอาจดับจิตต์ลงไปเมื่อไรก็ได้ โดย
ไม่ทันรู้ตัว ด้วยการเป็นลมบ่อย ๆ และทั้งกำลังน้อยถอยลงทุกที
เชื่อว่าคงจะตายไปทางเดียวกับท่านในไม่ช้า จึงอยากจะทำเสียแต่
ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ขอพ่อเจ้าได้ โปรดกรุณามีเทศน์และสดับปกรณ์
ที่พระศพท่าน แทนตัวข้าเจ้าให้สนองพระคุณของท่านที่ได้เคยทรง
เอื้อเฟื้อมาเป็นกาลนาน จะเป็นพระเดชพระคุณที่สุด ขอกราบมาที่
ฝ่าเท้าพ่อเจ้าด้วยความนับถือ และส่งความระลึกถึงแม่แสร์ด้วย.
                               จาก (มารดาพระยาโกมารกุลมนตรี)
ป.ล.
     จดหมายและธนบัติได้ฝากมากับคุญหญิงลี้ เพื่อถวายพ่อเจ้า. 

                                       (สำเนา)
ที่ ๑๕/๒๕๔๘                                                       กระทรวงวัง
กองพระราชพิธี                    วันที่ ๑๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖
เรื่อง งานพระเมรุพระราชชายา
               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง เรียน มหาอำมาตย์ตรี พระยา
กัลยาณวัฒนวิศิษฎ์ ข้าหลวงตรวจการทั่วไป นครเชียงใหม่
               ในการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าดารารัศมี พระราชชายา
ที่พระเมรุวัดสวนดอก นครเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๗๗ คณะรัฐมนตรีได้
ปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันว่า ให้ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีผู้แทนรัฐบาล
นำพวงดอกไม้ของรัฐบาลไปถวายสักการะพระศพ แล้วอยู่ช่วยงานนั้น
กับทั้งรัฐบาลจะได้สั่งจัดทหารบกกอง ๑ เข้ากระบวนแห่นำพระศพ
ไปสู่พระเมรุ จึงขอเรียนมาให้ทราบตามทางราชการ และขอได้
แจ้งความนี้ให้เจ้าผู้ครองนครทราบด้วย
               ผู้ที่จะไปกับข้าพเจ้า มี
                   (๑) ท่านผู้หญิงของข้าพเจ้า
                   (๒) หญิงคนใช้ของท่านผู้หญิง ๑ คน
                   (๓)ทนายของข้าพเจ้า ๑ คน
                ออกจากกรุงเทพ ฯ โดยรถไฟด่วนวันที่ ๑๘ เมษายน ซึ่งจะถึง
เชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น เสร็จการแล้วกลับ
                                                     ขอได้รับความเคารพ
                                         (ลงนาม) เจ้าพระยาวรพงศ์ ฯ
                                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง
         ที่ผมนำเสนอไปนี้เป็นสวนหนึ่งที่เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เจ้าผู้คองนครเชียงใหม่ ได้เรียบเรียง ไว้ในหนังสือนั้น ถ้าหากได้อ่านอย่างถี่ถ้วน จะได้ทราบถึงการเก็บพระศพเพื่อรอพระโกศ และ บางส่วนของขบวนพระศพ และการใช้พาหนะในการเดินทางจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ในเวลานั้น รวมทั้งระยะเวลาเดินทางอีกด้วย ซึ่งถ้าหากได้อ่านก็จะได้ความรู้ ความเป็นไปของเชียงใหม่ในอดีตมากมายครับ ซึ่งตอนต่อไป จะเป็นตอนสำคัญที่แสดงความผูกพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี อย่างชัดเจนที่สุด ขอให้ท่านได้ติดตามในบทความตอนต่อไป ซึ่งเป็นพระราชโทรเลข และพระราชหัตถเลขา ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ที่โปรด ฯ ถึงพระราชชายา ฯ เมื่อเสด็จเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้นำบางฉบับมาลงในหนังสือพระประวัติเล่มนี้ ซึ่งจะเสนอในตอนต่อไปครับ.

เชิญชมนิทรรศการ ยอยศยิ่งฟ้า พระมหากรุณาแผ่ไพศาล

 วโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ ๗ รอบ
            ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต
    นอร์ทเทิร์นวิลเลจ
             ขอเชิญชมนิทรรศการทัศนศิลป์ กลุ่มประยุกต์ศิลป์ ด้านประณีตศิลป์
                    ศิลปะการตัดฉลุกระดาษด้วยกรรไกร

                    ยอยศยิ่งฟ้า พระมหากรุณาแผ่ไพศาล

                     โดย นายเบญจพล  สิทธิประณีต.(ครูหมี)
วันจันทร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ ถึง วันพุธที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๑.๐๐ถึง๒๑.๐๐น
 ณ.นอร์ทเทิร์นวิลเลจ ชั้น ๒
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต



วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

  สวัสดีครับจากหนังสือพระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี นี้ในส่วนต่อจากพระประวัติก็จะแสดง พระราชโทรเลข พระโทรเลข โทรเลข ลายพระหัตถ์ หนังสือบางฉบับที่ส่งมาเพื่อถามพระอาการ ตลอดจนถึงแสดงความเสียใจ ที่พระราชชายา ฯ สิ้นพระชนม์ ซึ่งจะนำมาเสนอตามลำดับ  ดังนี้
หน้าที่ ๒๐ ถึงหน้าที่ ๒๒
                               พระราชโทรเลข พระโทรเลข โทรเลข ลายพระหัตถ์ หนังสือ
                                                  ระวางประชวร และสิ้นพระชนม์
                                                                  บางฉะบับ

                                                โทรเลขราชเลขานุการในพระองค์
                       ที่ ๒๘๑                                                                        จากหัวหิน
                                                                            วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
                        เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เชียงใหม่
                        โทรเลขได้รับและได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายแล้ว โปรดเกล้า ฯ ว่า
                        ทรงยินดีที่ได้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า พระอาการดีขึ้น และได้
                        พระราชทานด้านผูกพระหัตถ์มากับกรมพระกำแพงเพ็ชร์ แล้ว.

                                                             ( ลงนาม ) วิบูลย์สวัสดิวงศ์.

                                                                    พระราชโทรเลข

                        ที่ ๑๕๑๒                                                                      จากกรุงเทพ ฯ
                                                                                      วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
                       เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เชียงใหม่
                                  ฉันและสมเด็จพระบรมราชินี              มีความสลดใจที่ได้ทราบว่า
                       พระราชชายา ฯ             ได้ สิ้นพระชนม์เสียแล้ว มีความเสียดายและระลึก
                       ถึงมาก                 ขอแสดงความเศร้าโศกมายังท่านและบรรดาพระญาติ.  
                                                                      (พระบรมนามาภิธัย) ประชาธิปก ป.ร.
                                                                                                       รำไพพรรณี.

                                                                         พระโทรเลข
                       ที่ ๑๕๑๖                                                                                 จากกรุงเทพ ฯ
                                                                                             วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๗๖ 
                       เจ้าแก้วเนาวรัฐ ฯ เชียงใหม่
                               ได้รับโทรเลขของเธอแล้ว ขอแสดงความเศร้าสลดใจ ที่
                       ไม่ได้ นึกเลยว่าจะด่วนละญาติมิตร์ไปรวดเร็วเช่นนี้.
                                                                                (พระนาม) สว่างวัฒนา.

                                                                    (คำแปล)

                       ที่ ๑                                                                     จากบันดุง
                                                                        วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖
                       เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เชียงใหม่
                              รู้สึกเศร้าสลดใจมาก                ขอได้รับความเสียใจดัวย.

                                                                                (พระนาม)           บริพัตร์ .
                                                                                                           นิภา.
                                                                                                            ทิพยรัตน์.


                                                                            ลายพระหัตถ์
                                                                                                สำนักดิศกุล      หัวหิน
                                                                                   วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖
                          แจ้งความมายัง เจ้านครเชียงใหม่
                                ฉันได้รับจดหมายของเธอส่งสำเนารายงานหมอตรวจพระอาการ
                          พระราชชายา ฯ มาให้ทราบด้วยนั้น  ขอขอบใจเธอเป็นอันมาก เรื่อง
                          พระราชชายา ฯ ประชวรครั้งนี้            ฉันมีความวิตกมาก ถ้าสามารถ
                          จะไปได้ ก็คงขึ้นไปเยี่ยมแล้ว          ได้ตั้งใจฟังพระอาการอยู่ แต่ตาม
                          รายงานหมอ ดูยังมีทางที่จะหายได้ หวังใจว่าจะหายประชวร.
                                                                                     (  พระนาม ) ดำรงราชานุภาพ.
                                     
                                                                           (คำแปล)
                                                                                                                   บันดุง
                                                                                   วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
                         แจ้งความมายัง เจ้าหลวง ทราบ
                                   ฉันมีความเสียใจเป็นอันมาก ที่ไม่ได้พบกับเจ้าน้อย ก่อนที่ต้อง
                         จากกันไปเลยเช่นนี้    เราได้เคยชอบพอนับถือกันมาอย่างไรเจ้าหลวง
                         ย่อมทราบอยู่ดีแล้ว            ไม่ต้องกล่าวยืดยาว ฉันได้สั่ง สร้อย ให้นำ
                         ของมาให้เมื่อเวลาทำบุญแซยิด        บัดนี้ก็หมดโอกาสเสียแล้ว จึงขอ
                         ส่งเงินเป็นจำนวน ๓,๐๐๐ บาท    แล้วแต่เจ้าหลวงจะเห็นควรใช้ในการ
                         อย่างไร จะส่งพวงมาลาตามมาภายหลัง
                                           ขอถามข่าวเจ้าหลวง กับพวกณเชียงใหม่ที่ฉันรู้จักทุกคน มี
                         ความเสียใจด้วยเป็นอันมาก ที่ต้องเสียประมุขแห่งสกุลไปเช่นนี้.
                                                                         ( พระนาม ) นิภานพดล.           
                               
             ครับวันนี้ผมยก พระราชโทรเลข พระโทรเลข ลายพระหัตถ์ หนังสือระวางประชวร และสิ้นพระชนม์ บางฉะบับมานำเสนอ ยังคงมีอีก ตามในหนังสือพระประวัติ พระราชชายา ฯ ซึ่งจะนำมาเสนอในตอนต่อไป แต่ถ้าสังเกต จากหนังสือเหล่านี้ที่พระราชวงค์ทรงแสดงออกถึงความเศร้า เสียใจที่พระราชชายาฯ สิ้นพระชนม์ และระหว่างระหว่างประชวร ทรงหว่งใย ในพระราชชายา ฯ ก็ด้วยพระอัธยาศัย  และพระจริยาวัตรอันงดงามแบบล้านนาที่เข้มแข็งแต่อ่อนโยน มีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารีย์   ทำให้พระองค์เป็นที่รักและชอบพอของพระบรมวงศ์สานุวงค์ในราชจักรีวงศ์ เสมอมาจนกระทั้งสิ้นพระชนม์ .

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

  วันนี้ผมนำเสนอพระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี แห่งนครเชียงใหม่ต่อเลยน่ะครับจาก ในหนังสือพระประวัติที่ เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เรียบเรียง
ตอนที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๕ ถึงหน้าที่ ๑๙

                                       เครื่องราชอิสสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่พระองค์ได้รับพระราชทาน ดังนี้
                      ๑. ปฐมจุลจอมเกล้า ฯ พร้อมด้วยดาราจุลจอมเกล้า ฯ
                      ๒. มหาวชิรามงกุฎ
                      ๓. ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม
                      ๔. เหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๕
                      ๕. เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร.  ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๖
                      ๖. เหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ลงยากรอบประะดับเพ็ชร์ รัชกาลปัจจุบัน
                      ๗. เข็มพระปรมาภิธัยรัชกาลที่ ๖ ประดับเพ็ชร์ล้วน

                                                   ประชวร 
                      วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ตำหนัก สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม ได้เริ่มประชวรพระปับผาสะพิการ กระเสาะกระแสะเรื่อยมา นายแพทย์ในเชียงใหม่ได้ช่วยกันพยาบาลพระอาการก็ไม่ทุเลา เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ จึงเชิญเสด็จมาประทับที่คุ้มรินแก้ว อำเภอเมืองเชียงใหม่เพื่อแปรพระราชฐาน ทั้งให้สะดวกรักษาพยาบาล กับเพื่อสะดวกแก่ประยูรญาติที่จะเฝ้าเยี่ยมประชวรด้วย นายแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศในเชียงใหม่เป็นหลายนายกับหลวงสุริยพงศ์ ฯ แพทย์กรมรถไฟได้ร่วมกันรักษาพยาบาลอย่างสุดฝีมือ พระอาการก็ไม่ดีขึ้น เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ จึงได้สั่งซื้อเครื่องเอ็กซเรย์ชะนิดย้ายได้จากชะวา ส่งมาทางเครื่องบินรวมสิ้นเงิน ๔,๒๐๐ บาทเศษ มาฉายดูพระปับผาสะ เพื่อเป็นการช่วยแพทย์ตามแผนปัจจุบัน แม้กระนั้นพระอาการก็มีทรงกับทรุด.

                                                สิ้นพระชนม์
                    ครั้นมาเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๖ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๑๔ นาที ณ ที่คุ้มรินแก้ว ในท่ามกลางพระประยูรญาติ มีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เป็นประทาน ฝ่ายข้าราชการมีพระยากัลยาณวัฒนวิศิฏ์เป็นต้น พร้อมด้วยแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศอันห้อมล้อมอยู่ด้วยความเอาใจใส่ในพระอาการโดยหวังจะให้พระองค์ทรงบรรเทาทุกขเวทนานั้น พระองค์ก็ถึงซึ่งวาระสุดท้ายสิ้นพระชนม์ชีพดับขันธ์ลงทันที ทิ้งความวิปปโยคโศกศัลย์อันสุดซึ้งไว้แก่ผู้ที่เคารพรักใคร่ทั้งหลาย รวมเวลาประชวร ๕ เดือน ๙วัน ศิริพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ๓ เดือน ๑๓ วัน ประทับอยู่ในนครเชียงใหม่ครั้งสุดท้ายรวม ๑๘ ปี ๑๑ เดือนเศษ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ทรงมีพระราชโทรเลขมาแสดงความเศร้าสลดพระราชหฤทัย ตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอม หม่อมห้าม และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย พ่อค้าคฤหบดี ชาวต่างประเทศ ได้  มีพระโทรเลข และโทรเลข ลายพระหัตถ์หนังสือมาแสดงความสลดพระทัย และสียใจหลายสิบฉะบับ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรุมขุนอู่ทองเขตต์ขัติยนารี ประทานเงินช่วยทำบุญ ๓,๐๐๐ บาทด้วย
                  ส่วนบรรดาเจ้านายประยูรญาติ ข้าราชการในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตลอดจนถึงเชียงราย ชาวต่างประเทศ  พ่อค้าคฤหบดี กรรมการและสมาชิกของสมาคม คือสโมสรนวรัฐ สโมสรพาณิชย์สามัคคี สโมสรพาณิชย์จีนเชียงใหม่ สโมสรลูกค้าจีน โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย วัฒโนทัยพายัพ ดาราวิทยาลัย ปรินส์รอยแยลส์ ฯ มงฟอร์ตวิทยาลัย เรยีนาวิทยาลัย โรงเรียนฮั่วเอง โรงเรียนชั่วย่งเสง โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนซินหมิน ภิกษุสามเณร ทายกทายิกา วัดเชตุพน กับบุคคลอื่น ๆ อีกมาก ได้นำพวงมาลัยมาเป็นเครื่องสักการะพระศพ เลยทำบุญด้วยก็มี ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดเช่นกรุงเทพ ฯ ที่มาไม่ได้ ก็ส่งพวงมาลามาเคารพพระศพ ที่ส่งเงิน ส่งของ มาทำบุญก็มี กรรมการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยมีหนังสือแสดงความจำนงว่าจะแต่งผู้แทนมาในงานพระเมรุ ฝ่ายประยูรญาติก็ผลัดเปลี่ยนกันมาบำเพ็ญกุศลที่พระศพไม่ขาด.

                                              พระเกียรติคุณ
                เนื่องแต่พระองค์มีความจงรักษ์ภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายในราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ทรงพระมหากรุณาชุบเกล้า ฯ มาแต่บรรพบุรุษ และมีพระจริยาวัตต์อัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่างโอภาปราไส ใครจะเอ่ยเรื่องอะไรก็ต่อได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายในราชจักรีวงศ์ จึงทรงพระเมตตาปราณี ฝ่านประยูรญาติตลอดถึงข้าราชการ พ่อค้าคฤหบดี ประชาชนพลเมือง และชาวต่างประเทศ จึงเป็นที่นิยมและไปมาเฝ้าแหนเคารพยำเกรงทั่วไป เมื่อประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ ๕,๐๐๐ บาทช่วยในการรักษาพยาบาล กับโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน เชิญด้ายสายสิญจน์มา ผูกพระกร (ตามประเพณีทางเหนือ) ด้วย และโปรดเกล้าให้ถวายรายงานของแพทย์ประจำวัน ส่วนเจ้านายพระองค์อื่น และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็ได้  มีพระโทรเลขลายพระหัตถ์ และหนังสือถามพระอาการและปวารณารับจะทรงช่วย และช่วยอยู่เสมอ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการก็ให้หลวงสุริยพงศ์ ฯ ขึ้นมาช่วยประจำรักษาร่วมมือกับแพทย์ที่เชียงใหม่ตลอดจนสิ้นพระชนม์
                                                                         
                                                 พระศพ 
              ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาโกษาเป็นหัวหน้าพนักงานกองสนมพลเรือน ๘ กองภูษามาลา ๖ กองพระราชกุศล ๒ แผนกอภิรมย์ราชยาน ๑ กรมวังนอก ๒ แผนกกระบวน ๕ รวม ๒๕ นาย นำน้ำพระสุคนธ์สรงพระศพ กับพระโกศกุดั่น เครื่องสูง ๑๐ สังข์ ๑ แตรฝรั่ง ๑ แตรงอน ๑ กลองชนะ  ๒๐ เสลี่ยงแว่นฟ้า พระกลด พระราชทานมาเป็นพระเกียรติยศ และโปรดเกล้า ฯ ให้ไว้ทุกข์ถวาย ๗ วัน
             พระราชทานผ้าไตรของหลวง ๒๐ ไตร ของสมเด็จพระบรมราชินี ๒๐ ไตร พระสงฆ์ ๒๐ รูปสดับปกรณ์ พระราชาคณะแสดงพระธรรมเทศนา ๑ รูป พระถานานุกรม ๔ รูปสวดธรรมคาถาทั้งกลางคืนกลางวัน ฉันเช้าวันละ ๘ ฉันเพลวันละ ๔ รูป กำหนด ๑๕ วัน เหล่านี้เป็นของส่วนพระองค์พระราชทานทั้งสิ้น ในการพระเมรุก็โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงวังขึ้นมาจัดทำเป็นส่วนของพระองค์พระราชทานเหมือนกัน. 
               ทั้งหมดเป็นพระประวัติที่ได้ทรงตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งแสดงถึงพระหฤทัยที่เข็มแข็งตั้งแต่ทรงจากนครเชียงใหม่ไป ยังพระบรมมหาราชวังแต่ทรงพระเยาว์ ได้ทรงรักษาขนบธรรมเนียมและการแต่งพระองค์อย่างล้านนามาโดยตลอด ซึ่งแสดงถึงพระหทัยที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ในการรักษาซึ่งสิ่งที่ดีงามของแผ่นดินล้านนา ทรงศึกษาวิชาช่างฝีมือทั้งของในราชสำนักและในคุ้มหลวงโดยมิได้ลืมพระองค์ตามระยะเวลาอันยาวนานที่ทรงอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเป็นแบบอย่างของราชวงค์ล้านนาที่มีขนบธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และทรงส่งเสริมภูมิปัญญาของล้านนาให้มีคงอยู่โดยสายพระเนตรอันยาวไกล เมื่อทรงเสด็จกลับมายังนครเชียงใหม่ ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชน ดูแลทุกข์สุข ส่งเสริมอาชีพ ในทุกด้าน ทรงมีคุณูปการกับแผ่นดินล้านนาอย่างใหญ่หลวง ทรงเป็นขัติยนารีแห่งแผ่นดินล้านนา ที่เหล่าอาณาประชาราฏษ์จะไม่ลืมพระองค์ไปตลอดกาลนาน.  

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

 จากเมื่อวันก่อนที่ได้นำเรื่องการเสด็จประพาสที่ต่างๆเพื่อเยี่ยมเยียนราษฏร ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระทรงได้ทรงนำสิ่งที่ทรงทอดพระเนตร นำมาส่งเสริมให้เกิดการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมากมาย หลายด้าน เช่น ด้านการเกษตร ทรงทดลองปลูกไม้ดอกไม้ผล ทรงปลูกดอกกุหลาบซึ่งทรงตั้งชื่อ ว่าจุฬาลงกรณ์ เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรด ดอกกุหลาบมาก การที่ทรงนำพันธุ์ต้นลำไยมาทดลองปลูกจนกลายเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของเขตเชียงใหม่ลำพูน การที่ให้มีการทอผ้าขึ้นในคุ้มหลวงทั้งผ้าตีนจก และผ้ายกดอก ที่ไม่มีคนทอ ก็ทรงศึกษาและทดลองจนสามารถที่จะทอออกมาได้และส่งเสริมให้มีการทอผ้าต่อมาจนปัจจุบัน และทรงได้ส่งเสริมด้านดนตรี นาฎศิลป์ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังส่งเสริมการศึกษาเช่นประทานที่ดินให้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และทรงอุปถัมภ์โรงเรียนในสภาคริสจักรเช่นโรงเรียนดาราวิทยาลัยเป็นต้นนอกจากนั้นทรงทำนุบำรุงศาสนาอยู่ประจำมิได้ขาด ดังจะนำเอาพระประวัติตอนต่อไปมาเสนอดังนี้
ตอนที่ ๙ หน้าที่ ๑๓ ถึง หน้าที่ ๑๕
                                                      การบำเพ็ญพระกุศล
              โดยปกติพระองค์เคยถวายอาหาร บิณฑบาตร์ และถวายจตุปัจจัยสำหรับวัดและสงฆ์บางรูปเป็นรายเดือนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรตลอดจนสิ้นพระชนม์ไม่มีขาด กับนิมนต์พระสงฆ์มาฉันและถวายของไทยทานเสมอ มีการทำบุญวันประสูติและถวายกฐินทุกปี
              การปฏสังขรณ์วัด และปูชนียสถาน ฉะเพาะรายใหญ่ที่บริจจาคทรัพย์แต่ลำพังพระองค์ หรือทรงบริจจาคมากกว่าผู้อื่น เท่าที่จำได้ คือ
             ๑.ปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ วิหาร ลาน โบสถ์บนดอยสุเทพแล้วมีการฉลองเป็นงานใหญ่
             ๒.สร้างและฉลองวิหารวัดชัยชนะมงคล (ป่ากล้วย) อำเภอสาระภี
             ๓.สร้างและฉลองวิหารวัดขุนเส อำเภอหางดง
             ๔.สร้างและฉลองวิหารวัดขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม
             ๕.สร้างและฉลองวิหารพระบรมธาตุ อำเภอจอมทอง
             ๖.ยกตำหนักบนดอยถวายเป็นของพระธาตุสุเทพ
             ๗.สร้างตึกณเชียงใหม่ ในบริเวณโรงพยาบาลแม๊คคอร์ มิค
             ๘.บริจจาคเงินซื้อรถยนต์ประทานสถานีอนามัย เชียงใหม่ ๑ คัน
              ส่วนการอุปสมบทภิกษุสามเณรก็มีเสมอไม่ใคร่ขาด เมื่ออุปสมบทแล้ว โดยมากก็ทรงอุปัฎฐาก จุนเจือไม่ทอดทิ้ง อนึ่งเมื่อยังประทับอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ถ้าภิกษุสามเณรจากฝ่ายเหนือลงไปศึกษาเล่าเรียน ก็ปวารณาและช่วยเหลือแทบทุกรูป
              นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว พระองค์ยังได้ประทานที่ดินที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ กับประทานที่ดินให้เป็นที่ตั้งสโมสรคณะราษฎรหรือสโมสรนวรัฐ (ฉะเพาะกึ่งทางเหนือ กึ่งทางใต้เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ ให้) กับได้ทรงอุปถัมภ์โรงเรียน มีโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เป็นอาทิ ซึ่งพระองค์ได้ทรงช่วยเหลือด้วยประการต่าง ๆ กับได้อุดหนุนทุนค่าเล่าเรียนให้แก่เด็กนักเรียน ๗-๘ คนด้วย เมื่อทรงอุปถัมภ์โรงเรียนมากเช่นนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์ท่านเป็นกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ด้วยพระองค์หนึ่ง เมื่อย้ายโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ไปรวมกับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กรุงเทพ ฯ แล้วภายหลังได้ตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธขึ้น นักเรียนเก่าเหลานั้นยังคิดถึงพระอุปการคุณ จึงได้อัญเชิญเสด็จพระองค์ท่านเป็นสมาชิกพิเศษของสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธ เพื่อเทอดพระเกียรติคุณไว้จนกาลบัดนี้ กับทรงอุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัยและดรงเรียนอื่นทั้งช่วยเหลือการศึกษาของกุลบุตร์ กุลธิดา มาช้านานตลอดจนสิ้นพระชนม์ชีพ.
              ส่วนการกสิกรรม พระองค์ก็ได้เคยเอาพระทัยใส่ คือสละทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อเครื่องใช้ในการทำสวน และพืชพันธุ์ต่าง ๆ จ้างผู้ที่เคยเป็นครูโรงเรียนกสิกรรมมาเป็นหัวหน้าที่สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฏรทั่วไปด้วย.             
              จะเห็นได้ว่าพระราชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล และมีความคิดที่ทันสมัย กว่าสตรีในยุกต์เดียวกันทรงได้สร้างงาน สร้างคนและมีคุณูปการต่อชาวเชียงใหม่และสถานที่ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนอย่างทั่วถึงตลอดพระชนม์ชีพ

รูปแกะสลักของอียิปต์ที่คุณพ่อถ่ายไว้

    สองสามวันที่แล้วผมได้เปิดกระเป๋าเดินทางใบเก่าของคุณพ่อซึ่งไม่ได้เปิดมาตั้งแต่คุณพ่อเสียชีวิต(พ.ศ. ๒๕๒๓) ได้พบรูปเก่าๆที่คุณพ่อถ่ายไว้เมื่อครั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและเดินทางรอบโลกประมาณ ๖๐-๗๐ ปีที่แล้ว ท่านจะถ่าย ล้าง รูปด้วยตนเอง เป็นรูปขาวดำขนาด ๑๙ คูณ ๒๔ เซ็นติเมตร มีเป็นจำนวนร้อย ร้อยรูป  เป็นรูปถ่ายสถานที่ต่างๆ และผู้คน การทำการเกษตร ผมได้แยกรูปออกมาเป็นหมวดหมู่ รูปชุดนี้เป็นรูปงานแกะสลักหินเป็นรูปบุคคลของอียิปต์ ซึ่งบางรูปเป็นเทพพระเจ้าซึ่งผมไม่แน่ใจ ส่วนมากที่เรามักเห็นบ่อยๆ เช่นเทพราหรือเร (Re)หรือสุริยเทพ เป็นเทพแห่งความเป็นอมตะ มีรูปร่างเป็นคน หัวเป็นเหยี่ยวและมีดวงอาทิตย์อยู่บนศรีษะ เทพโอซิริส(Osiris) เทพแห่งแม่น้ำไนล์ ผู้ตัดสินว่าดวงวิญญานใครจะไปสู่สวรรค์ มีรูปร่างหน้าตาเป็นกษัตริย์มีเครา ถือคทาหัวขอ และแซ่ เทพไอซิส( Isis) เทพแห่งเวทมนต์ มีรูปร่างเป็นผู้หญิงสรวมหมวกรูปบรรลังก์ ส่วนเทพอีกองค์ที่เป็นที่รู้จักคือเทพฮอรัส( HoruS) เทพแห่งท้องฟ้า มีศรีษะเป็นเหยี่ยวแต่สรวมหมวกคล้ายเทพโอซิริส เทพอีกองค์ที่มักเห็นบ่อยๆ คือเทพอนูบิส(Anubis)เทพแห่งความตาย เป็นเทพที่รับดวงวิญญาณคนตายและป้องกันไม่ให้ร่างเน่าเปื่อย
     รูปที่ผมนำมาเสนอนั้นผมไม่ทราบว่าจัดแสดงอยู่ ณ ที่ใด ถ้าหากท่านผู้อ่านมีข้อมูลกรุณาแจ้งให้ผมทราบจะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " สวัสดีครับเมื่อวานนี้เป็นวันสำคัญของชาติอีกวันหนึ่งคือวันปิยมหาราช หลายๆท่านคงได้ไปวางพวงมาลาที่พระบรมราชานุเสาวรีย์ตามจังหวัดต่าง ๆ ผมไ..."

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

    สวัสดีครับเมื่อวานนี้เป็นวันสำคัญของชาติอีกวันหนึ่งคือวันปิยมหาราช หลายๆท่านคงได้ไปวางพวงมาลาที่พระบรมราชานุเสาวรีย์ตามจังหวัดต่าง ๆ ผมได้นำเสนอพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านบางตอนให้ทราบไปแล้ว พระองค์ทรงเป็นที่รักและเคารพจากประชาชนชาวสยาม ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงเป็นที่รักเคารพของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ อันเป็นสายสัมพันธ์ที่ยาวนาน จนพระองค์เสด็จสวรรคต ต่อมาพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ก็เสด็จกลับคืนนครเชียงใหม่ แต่ก็ได้รับเสด็จ และการมาสู่ของเจ้านายข้าราชการจากกรุงเทพฯอยู่เสมอ และเมื่อเสด็จมาประทับที่เชียงใหม่พระองค์ยังทรงเอาพระทัยช่วยเหลือการงานของรัฐบาลและออกเยี่ยมเยียนราษฏรอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ ดังในหนังสือพระประวัติ ที่เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เรียบเรียง ต่อไปดังนี้
ตอนที่ ๘ หน้าที่ ๑๑ ถึงหน้าที่ ๑๓
              พระองค์เป็นขัติยนารีพิเศษพระองค์หนึ่ง คือพระวรกายแข็งแรง พระทัยก็กล้าหาญ ทั้งทรงรู้จักค้นคว้าหาเหตุผลจากสิ่งต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากเมื่อเสด็จมาประทับอยู่เชียงใหม่ตอนต้น ๆ เคยทรงม้าประพาสที่ต่าง ๆ พอพระทัยให้ม้าวิ่งเสมอ โปรดเสด็จทอดพระเนตร์ภูมิประเทศต่าง ๆ แม้จะไกลและกันดาร หมิ่นต่ออันตรายก็ไม่ทรงท้อถอย เช่นเสด็จจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประพาสตั้งแต่อำเภอปายถึงอำเภอขุนยวม เสด็จลงเรือเล็กล่องตามแม่น้ำสาละวิน ซึ่งกว้างและลึก น่ากลัวอันตรายมากถึงสามราตรี และได้เสด็จขึ้นประพาสบ้านใหม่ในเขตต์เมืองยางแดง เสด็จกลับทางอำเภอแม่สะเรียง ขึ้นประทับแรมบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในพระราชอาณาจักร์สยาม และน้อยคนที่จะได้ไปถึง เพราะทางขึ้นไปกันดาร สัตว์ป่าดุร้ายก็ชุม ต้องแผ้วถางทางและใช้ม้าเป็นพาหนะ ความหนาวถึง ๔๐ ดีกรีฟาเร็นไฮท์ แม้กระนั้นก็ประทับอยู่ถึงสองราตรี พระองค์ได้ทรงทำเครื่องหมายเป็นที่ระลึกไว้ณที่นั้นด้วย นอกจากนี้ยังเสด็จอำเภอฝางโดยขบวนช้างและม้า ประพาสบนดอยอ่างขางทอดพระเนตร์สวนฝิ่นของพวกแม้ว แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธรูปทองทิพย์ อำเภอแม่สรวย เสด็จเชียงราย ทอดพระเนตร์ โพนช้างที่อำเภอเทิง และทอดพระเนตร์การจับช้างในพะเนียดที่อำเภอเชียงแสน ทอดพระเนตร์เขตต์แดนสยามกับฝรั่งเศสอังกฤษต่อกัน เสด็จลงเรือล่องตามลำน้ำโขงทอดพระเนตร์การจับปลาบึก ประพาสทอดพระเนตรวิวสองฝั่งแม่น้ำโขง เสด็จนมัสการพระธาตุดอยตุง เสด็จกลับเชียงใหม่ทางโหล่งกวง ต้องขึ้นเขาลงห้วยรอนแรมอยู่ในป่าลำบากมากเป็นเวลาหายราตรี ซึ่งเวลานี้ไม่ใคร่จะมีใครเดินทางนั้นแล้วนอกจากนี้ยังเคยเสด็จอำเภอเถิน อำเภอลี้ ออบแม่แจ่ม อำเภอฮอด พระบาทสี่รอย น้ำตกแม่กลาง แม่ยะ และพระบาท พระธาตุ ถ้ำ เหว อื่น ๆ อีกมาก ทางปักษ์ใต้ก็ได้เคยเสด็จตั้งแต่ราชบุรีตลอดถึงปีนัง ทั้งเสด็จเมื่อถนนหนทางยังไม่สะดวกเหมือนเวลานี้ด้วย เมื่อเสด็จถึงที่ไหนก็พยายามสืบถามถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพผู้ที่อยู่แถบนั้น ๆ เมื่อปรากฏว่าอดอยากก็ประทานเข้าของเงินทอง และทรงพยายามหาทางช่วยเหลือเสมอ.
จบตอนที่ ๘ ถ้าหากอ่านจากหนังสือพระประวัติ พระราชชายา ในตอนนี้แล้ว จะทำให้ทราบถึงพระจริยาวัตรของพระราชชายา ที่ทรงมีต่อประชาชนในถิ่นธุรกันดาล ซึ่งผ่านมากว่าเกือบร้อยปีที่แล้ว การเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฏรในสมัยนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับเจ้านายที่ทรงเคยประทับอยู่แต่ในพระบรมหาราชวังตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ไม่เคยทรงลำบาก แต่อาจด้วยทรงใกล้ชิดกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่พระองค์ทรงเสด็จออกประพาสต้นอยู่เนืองๆ เพื่อดูแลทุกข์สุขของราษฏร จึงทำให้พระราชชายา เจาดารารัศมี ทรงมีพระวิริยะอุสาห์ตามรอยพระยุคลบาท ในการที่จะเยี่ยมเยียน ดูแลทุกข์ของราษฏร ทั้งใกล้และไกล และทรงงานที่เป็นประโยชน์อีกมากมายซึ่งจะได้เล่าให้ท่านฟังในคราวต่อไปครับ.

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     วันนี้เป็นปิยะมหาราช ชาวไทยทั่วทั้งประเทศจะไปวางพวงมาลาถวายบังคมเพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ครบ ๑๐๐ ปีแห่งวันสวรรคตพอดี ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์บางตอนในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน มาให้ได้อ่าน ในบทความ ตอนนี้ ผมจะนำ พระราชนิพนธ์ คำนำ ที่พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์มาให้ท่านผู้สนใจได้อ่านเพราะมีความรู้ในคำนำนี้มาก ถ้าหากข้ามไปจะหน้าเสียดาย ซึ่งมีด้วยกัน แปดหน้า คือหน้าที่ ๑ ถึง หน้าที่ ๘ ดังนี้
                                                                   พระราชนิพนธ์
                                                                         คำนำ
                                                          เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน
          พระราชพิธีซึ่งมีสำหรับพระนคร ที่ได้เคยประพฤติมาแต่ก่อนจนถึงประจุบันนี้ อาไศรที่มาเปน ๒ อย่าง อย่างหนึ่งมาตามตำราไสยศาตรที่นับถือพระเปนเจ้า อิศวร นารายน์ อย่างหนึ่งมาตามพระพุทธสาสนา แต่พิธีที่มาจากต้นเหตุทั้งสองอย่างนี้ มาคละระคนกับเปนพิธีอิกอย่างอย่างหนึ่งขึ้นก็มี ด้วยอาไศรยเหตุที่แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินแลชาวพระนครถือสาสนาพราหมณ์ การใด ๆ ซึ่งนับว่าเปนศรีสวัสดิมงคลแก่พระนครตามคัมภีร์ไสยสาตรก็ประพฤติเปนราชประเพณีสำหรับพระนครตามแบบอย่างนั้น
ครั้นเมื่อภายหลังพระเจ้าแผ่นดินแลราษฏรนับถือพระพุทธสาสนา ถึงว่าพระพุทธสาสนาที่เปนต้นเดิมแท้ไม่มีฟกษ์ภาพฺธีรีตองอันใด ด้วยพระพุทธเจ้าย่อมตรัสว่า ฤกษ์ดี ยามดี ครู่ดี ขณะดี การบูชาเส้นสรวงดี ทั้งปวงย่อมอาไศรยความสุจริตในไตรทวาร ถึงแม้ว่าการซึ่งจะเปนมงคลแลเปนอวะมงคลก็ดี ก็อาไสรยที่ชนทั้งปวงประพฤติการสุจริตทุจริตเปนที่ตั้ง เพราะฉนั้นการพระราชพิธีใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเจือปนอยู่ในพระพุทธสาสนา ซึ่งมีคำอ้างว่ามาตามทางพุทสาสนานับเอาเปนคู่กับไสยสาตรนั้น จะอ้างว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติฤาแนะนำไว้ให้ทกนั้นไม่ได้ มีอย่างเดียวแต่การพระราชพิธีทั้งปวง บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสรเสริญ บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสติเตียน เมื่อว่าโดยย่อแล้ว การอันใดที่เปนสุจริตในไตรทวาร พระดุทธเจ้าก็ตรัสสรเสริญการสิ่งนั้นว่าเปนดี การสิ่งใดที่เปนทุจริตก็ย่อมทรงติเตียนว่าการสิ่งนั้นเปนการชั่ว เพราะฉนั้นการพระราชพิธีที่อ้างว่าตามพุทธสาสน์นั้นควรจะต้องเข้าใจว่า เปนแต่ตัวอย่างความประพฤติของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธสาสนาได้ประพฤติมาแต่ก่อน การที่ประพฤตินั้นไม่เปนการมีโทษที่พระพุทธเจ้าจะพึงติเตียน การพระราชพิธีเช่นนี้นับว่าเปนการมาตามทางพุทธสาสน์
                     แต่ส่วนพระราชพิธีซึ่งคละปนกันทั้งพุทธสาสน์แลไสยสาตรนั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเดิมทีพระเจ้าแผ่นดินแลราษกรนับถือสาสนาพราหมณืดั่งว่ามาแล้ว ครั้นเมื่อได้รับพระพุทธสาสนามาถือ พระพุทธสาสนาไม่สู้เปนปฏิปักษ์คัดค้านกันกับสาสนาอื่น ๆ เหมือนสาสนาพระเยซูฤาสาสนามหะหมัด พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์อย่างเดียวแต่ที่จะแสดงเหตุที่เปนจริงอยู่อย่างไร แลทางที่จะระงับดับทุกข์ได้ด้วยอย่างไร ตามซึ่งพระองค์ตรัสรู้ด้วยพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ไม่พยากรณ์กล่าวแก้ในถ้อยคำความเห็นของชนทั้งปวงที่กล่าวแก่งแย่งกนอยู่ต่าง ๆ ด้วยเห็นไม่เปนประโยชน์อันใด เมื่อว่าโดยอย่างที่สุดแล้ว ผู้ที่ถือพระพุทธสาสนาแท้ก็ไม่มีเหตุอันใดซึ่งสมควรจะนับถือลัทธิทางไสยสาตร แต่ผู้ที่นับถือพระพุทธสาสนาในชั้นหลังซึ่งไม่ได่บรรลุมรรคผล ย่อมมีความหวาดหวั้นสดุ้งสเทือนด้วยไภยอันตรายต่าง ๆ แลมีความปราถนาต่อความเจริญรุ่งเรืองแรงกล้า เมื่อได้เคยประพฤตินับถือกลัวเกรงพระเปนเจ้าแลเทพยดา ซึ่งว่ามีฟทธิอำนาจอาจจะลงโทษแก่ตนและผู้อื่นได้ในเหตุซึ่งมิใช่เปนคงามยุติธรรมแท้ คือบันดาลให้เกิดไข้เจ็บต่าง ๆ โดยความโกรธความเกลียดว่าไม่เคารพนบนอบบูชาตน ฤาอยู่ดี ๆ สบใจร้ายขึ้นมาก็ทำพิศม์สงให้คนทั้งปวงลำบากด้วยความเจ็บไข้กันดารด้วยเสบียงอาหารเปนต้น จึงได้คิดทำการบูชาเส้นสรวงให้เปนเครื่องป้องกันความผิด อันผู้มีอำนาจมีใจเช่นนั้นจะถือว่าเปนการหมิ่นประมาทไม่เคารพนบนอบ ฤาประจบประแจงไว้จะได้สบาย ๆ ใจไม่มีใจร้ายขึ้นมา ความเชื่อถือมั่นหมายในการอย่างนี้มีฝังอยู่ในใจคนทั้งปวงสืบลุกหลานมาหลายสิบชั่วคนแลอาไศรยเหตุผลซึ่งเปนการพเอิญเปนไปเฉพาะถูกคราวเข้ามีอยู่เนือง ๆ เปนเครื่องประกอบให้คิดเห็นว่าเปนเพราะผีสางเจ้านายกริ้วโกรธเช่นกล่าวมาแล้ว จึงทำให้ความหวาดหวั่นกลัวเกรงนั้นไม่ขาดสูญไปได้ เมื่อมีความกลัวอันตรายอยู่ดังนี้แล้ว ส่วนความปราถนาจะอยากดีอยากสบายนั้นแรงกล้า ก็ชักพาให้พ้นเข้าหาความอ้อนวอนขอร้องเส้นสรวงบูชาให้ข่วยแรงเข้าอีก ตามความปราถนาอันแรงกล้า ด้วยเหตุดังนี้แล ถึงแม่ว่าคนไทยถือพระพุทธสาสนาก็ยังหาอาจที่จะละทิ้งการบูชาเส้นสรวงไปได้ไม่การพระราชพิธีตามไสยสาตรจึงยังไม่ได้เลิกถอน เปนแต่ความนับถือนั้นอ่อนไป ตกอยู่ในทำไว้ดีกว่าไม่ทำ ไม่เสียหายอันใดนัก
                        แต่การพิธีทั้งปวงนั้นก็ย่อมเลือกเฟ้นแต่การสุจริตในไตรทวารไม่รับลัทธิซึ่งเปนการทุจริตของพวกพราหมณืฮินดูบางพวกซึ่งมีลัทธิร้ายกาจ เช่นฆ่าสัตว์บูชายัญเปนต้น มาถือเปนธรรมเนียมบ้านเมืองให้เปนการขัดขวางต่อพระพุทธสาสนา แลการพระราชพิธีอันใดซึ่งมีแต่พิธีพราหมณ์อย่างเดียว ก็ย่อมเพิ่มเติมการพระราชกุศลซึ่งเปนส่วนทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย  เจือปนเข้าไปในพระราชพิธีนั้นยกเป็นต้นเหตุ การบูชาเส้นสรวงเทพยดาพระอิศวร พระนารายน์เปนต้น เปลี่ยนลงไปเปนปลายเหตุ ทำไปตามเคยตกอยู่ในเคยทำมาแล้วก็ทำดีกว่าไม่ทำ แลการที่ทำนั้นก็ไม่เปนการมีโทษอันใด แลไม่เปลืองเบี้ยหอยเงินทองอันใดมากนัก ซึ่งกล่าวมาทั้งปวงนี้เพื่อจะแสดงให้ทราบชัดในเบื้องต้นว่าพระราชพิธีทั้งปวงนั้นทำสำหรับประโยชน์อันใด แลเพื่อว่าผู้มีความสงไสยว่าพระเจ้าแผ่นดินแลราษฏรก็ถือพระพุทธสาสนา เหตุใดจึงทำพิธีตามลัทธิไสยสาตรอยู่แต่ก่อนคิดเห็นการดังเช่นกล่าวมานี้แล จึงยังได้ทำกรพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเปนการสำหรับพระนครสืบมา
                      ก็แลพระราชพิธีที่มีมาในพระรชกำหนดกฏมณเฑียรบาลซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่แรกสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาโบราณ แสดงพระราชพิธีประจำเดือน ๑๒ เดือนไว้ ว่าเปนการซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทำ ว่าเปนการเปนมงคลสำหรับพระนครทุกปีมิได้ขาดนั้นคือ
                      เดือนห้า การพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจกรออกสนาม
                      เดือนหกพิธีไพศาขย์ จรดพระนังคัล
                      เดือนเจ็ดทูลนำล้างพระบาท
                      เดือนแปดเข้าพรรษา
                      เดือนเก้าตุลาภาร
                      เดือนสิบภัทรบทพิธีสารท
                      เดือนสิบเอ็ดอาศยุชยแข่งเรือ
                      เดือนสิบสองพฺธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม
                      เดือนอ้ายไล่เรือ เลิงพิธีตรียัมพวาย
                      เดือนยี่การพิธีบุศยาภิเศก เฉวียนพระโคกินเลี้ยง
                      เดือนสามการพิธีธานยเทาะห์
                      เดือนสี่การพิธีสัมพัจฉรฉินท์
                      การพระราชพิธีที่กล่าวมา ๑๒อย่างนี้ คงได้ทำอยู่ที่กรุงเทพฯ นี้แต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสอง เดือนสี่แต่พิธีเดือนอ้านเปลี่ยนมาเปนเดือนยี่ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งไว้ เปลี่ยนมาแต่กรุงเก่าแล้ว ด้วยเหตุว่าเดือนอ้ายพึ่งเปนเวลาน้ำลด ถนนหนทางเปนน้ำเป็นโคลนทั่วไปย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง แต่พระราชพิธีเดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนสิบเอ็ด เดือนยี่ ที่เปลี่ยนขึ้นไปเปนเดือนอ้าย และพิธีเดือนสามนั้นตำราสูญเสีย ไม่ได้ทำที่กรุงเทพ ฯ ถึงที่กรุงเก่าก็ทำบ้างเว้นบ้าง ไม่เปนการเสมอทุกปีตลอดไป แต่พิธีเดือนแปดนั้นเปนส่วนการพระราชกุศลในพระพุทธสาสนา เห็นจะเปนส่วนเกิดขึ้นมาใหม่เมื่อถือพระพุทธสาสนา แต่พิธีพราหมณ์เดิมน้นสาบสูญไม่ได้เค้าเงื่อนเลย ถึงพิธีที่ว่าสูญเสียไม่ได้ทำในกรุงเทพ ฯ นี้ก็ได้เค้าเงื่อนทุก ๆ พิธี เว้นแต่เดือนแปด ฤาชรอยจะเปนพิธีซึ่งไม่เปนการสุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่สมควรแก่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธสาสนาจะทำ จึงได้ยกเลิกเสียตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธสาสนา เปลี่ยเปนพิธีตามพทธสาสน์จึงได้สูญไป ที่ว่านี้เปนแต่การคาดคเน ส่วนการพระราชพิธีที่กรุงเทพ ฯ นี้ คงตามอย่างเก่าแต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสองเดือนยี่ เดือนสี่ เท่านั้นก็ดี ยังมีพระราชพิธีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมขึ้นใหม่ จนเกือบจะครบสิบสองเดือนเหมือนของเกา ซึ่งคิดจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้านี้
                     การซึ่งคิดจะเรียบเรียงพระราชพิธีสิบสองเดือน ลงในหนังสือวชิรญาณครั้งนี้ ด้วยเห็นว่าคำโคลงพระราชพิธีทวาทมาศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงแตงขึ้นไว้ กรรมสัมปาทิกปีหลายนี้ ได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเกือบจะตลอดอยู่แล้ว แต่คำโคลงนันท่านก็ทรงไม่ทันจบครบสิบสองเดือน แลในสำเนาความนั้นว่าความลเอียดทั้วไปจนการนักขัจฤกษ์ ซึ่งเปนส่วนของราษฏร ข้อความที่ว่าพิศดารมากกว่าตัวโคลงที่จะทำ จึงต้องประจุถ้อยคำลงให้แน่น บางทีผู้ซึ่งไม่สู้สันทัดในการกาพย์โคลงก็อ่านไม่เข้าใจแลในครั้งนี้ได้คิดที่จะช่วยกันแต่ง เรียบเรียงข้อความในความประพฤติของราษฏรประชาชนในกรุงสสยาม ซึ่งได้เล่นการนักขัตฤหษ์ตามฤดุปีเดือน เพื่อจะให้เปนประโยชน์ที่ให้คนภายหลังทราบการงาน ซึ่งเราได้ประพฤติเปนประเพณีบ้านเมืองอยู่บัดนี้ฤาในชั้นพวกเราทุกวันนี้ที่ยังไม่ได้ทราบได้เห็นการประพฤติทั่วไปของชนทั้งปวงก็จะได้ทราบ เหมือนอย่างช่วยกันสืบสวนมาเล่าสู่นฟัง ส่วนในการพระราชพิธีประพฤติเปนไปอยู่ในราชการนี้ก็เปนข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเปนเวลาประชุมพระบบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการพร้อมกันคราวหนึ่ง ครั้นจะรวบรวมลงเปนเรื่องเดียวันกับการนักขัตฤกษ์ของราษฏร ก็จะเปนความยือยาวปะปนฟั่นเฝือกันไป จึงได้คิดแยกออกไว้เสียต่างหาก คิดกำหนดแบ่งข้อความเปน ๑๒ ส่วนส่วนละเดือน กำหนดจะให้ได้ออกในวันสิ้นเดือนครั้งหนึ่งไปจนตลอดปี แต่เดือนหนึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างตามการที่มีมากแลน้อย หวังใจว่าคงจะเปนประโยชน์แก่ผู้ซึ่งใคร่ทราบเวลาเวลาประชุมราชการได้ ตามสมควรแก่เรื่องราวซึ่งนับว่าเปนแต่พระราชพิธี ดังนี้ ฯฯ      
                    คำนำที่ทรงพระราชนิพนธ์ก็จบลงเพียงนี้ซึ่งถ้าหากได้อ่านอย่างถี่ถ้วยแล้วผมว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเลยครับ ซึ่งต่อจากนี้พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เริ่มตั้งแต่เดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียง ก่อนซึ่งผมจะหาโอกาสอัญเชิญพระราชนิพนธ์มานำเสนอกับท่านที่สนใจ และขอกราบขออภัยถ้าหากผมพิมพ์ตกหล่น เนื่องจากภาษาที่ใช้ในสมัยนั้นไม่คุ้นชิน แต่ผมก็พยายามทบทวน และจะเห็นการใช้ภาษาการสะกดที่แตกต่างจากปัจจุบันเป็นบางคำ ขอขอบพระคุณครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

           เนื่องในวโรกาส ๑๐๐ ปีวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๓ ที่จะถึงนี้ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผมจึงได้ขอยกเอาพระราชนิพนธ์บางตอนในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณทรงนิพนธ์คำนำไว้ว่าตอนหนึ่ว่า "การที่ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงพระราชทานให้ทันพิมพ์ทุก ๆ สัปดาหะ ลำบากพระราชอิริยาบถมิใช่น้อย ด้วยพระราชกิจต่าง ๆ มีมากอยู่เปนนิตย์ ทราบว่าโดยปรกติมักทรงพระราชนิพนธ์ในเวลาค่ำ เมือเสร็จทรงหนังสือราชการประจำวันแล้ว ก็ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ต่อไปจนพอคราวหนึ่ง ถ้าติดพระราชธุระถึงพระราชนิพนธ์คั่งค้างจนเร่งเรียกฉบับ บาททีก็ถึงต้องทรงละเว้นการสำราญพระราชอิริยาบถ ดังเช่นงดเสด็จประพาศ  เอาเวลามาทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรืองนี้ก็มีเนือง ๆ ตั้งแต่เดือน ๑๒ ปีชวด (เพราะหอพระสมุดเปลี่ยนกรรมการใหม่เมื่อกลางเดือน ๑๑ ทุกปี) ทรงพระราชนิพนธ์มาจนถึงเดือน ๑๑ ปีฉลู แล้วติดพระราชธุระอื่นเสีย(ดูเหมือนเพราะต้องเสด็จไปหัวเมือง) พระราชนิพนธ์เรื่องนี้จึงขาดเรื่องพระราชพิธีเดือน ๑๑ อยู่เดือนหนึ่ง หามีเวลาที่จะทรงจนจบไม่ถึงกระนั้นที่ทรงแล้วเพียงใดก็บริบูรณ์ดีทุกตอน จึงนับได้ว่าเปนหนังสือสำเร็จเรื่องหนึ่ง "  จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม้ทรงมีพระภาระกิจมากแต่ก็เอาพระทัยใส่ในเรืองงานที่ทรง และแม้ว่างานพระราชนิพนธ์แบบนี้ก็แสดงให้เห็นถึงพระอัฉริยภาพและทรงภูมิปัญญา ในพระราชพิธี ตั้งแต่อดีตครั้งสมัยอยุธยา ทรงพระพายามจะรักษาพราะราชพิธีและการปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งถ้าหากเป็นในปัจจุบันสามัญชนก็เรียกได้ว่าเป็นงานสืบสานภูมิปัญญา ให้คงอยู่ต่อไป   ซึ่งในวาระ ๑๐๐ ปีแห่งวันสวรรคต นี้ ในฐานะครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ ของกระทรวงศึกษาธิการจึงไคร่ขอ นำพระราชนิพนธ์บางตอนมานำเสนอ เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ตามความที่ยกมานี้
ด้านหน้าปก
                                               เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน
            พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธบดีศรีสินทรมมหาจุฬาลงกรณ์
                                                 พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖
                              ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์เปนของพรราชทาน
                           ในงานพระศพ พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ
                                                         ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓
                                      พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ
ตอนที่ผมจะนำมาเสนออยู่ในหน้าที่ ๕๕๓ ถึงหน้า ๕๕๕ ว่าด้วยรูปพระบัวเข็ม
                          ยังมีพระพุทธรูปอีกอย่างหนึ่ง เปนของมาแต่เมืองมอญ พระมอญพอใจเอามาถวาย ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงในรัชกาลประจุบันนี้มีมากหลายองค์ เปนรูปพระเถระนั่งก้ม ๆ หน้า มีใบบัวคลุมอยู่บนศีศะ แลมีเข็มตุ้มปักตามหัวไหล่ตามเข่าหลายแห่งฐานรองนั้นเปนดอกบัวคว่ำดอกหนึ่ง หงายดอกหนึ่ง ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปลา ปู ปั้นนูน ๆ ขึ้นมา เปนพระทำด้วยแก่นพระศรีมกาโพธิลงรักปิดทองเบา ๆ ว่าเปนพระสำหรับขอฝน มีเรื่องราวนิทานได้ ยินพระบาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าอยู่ แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ ในท้องเรื่องนั้นก็คล้าย ๆ พระสุภูตะ ฤาภูติเถระนี้เอง ได้สอบถามพระสุเมธาจารย์ แจ้งว่าเปนรูปรพะสุภูติที่ขอฝนนั้นเอง เข็มตุ้มที่ปักอยู่ตามพระองค์ ซึ่งท่านเรียกว่าหมุดว่าเปนช่องที่บรรจุพระบรมธาตุ ฟังดูที่กล่าวนั้น ก็เคล้าเรื่องสุภูติอย่างไทย ๆ ไม่แปลกอะไร
                         แต่ได้สอบถามพระคุณวงษ์ แจ้งความไปคนละเรื่อง อ้างผู้ยกเล่ามีเรื่องราวยืดยาวว่า เมื่อท่านออกไปนมัสการพระบรมธาตุที่เมืองรางกูนกลับมาถึงวัดกะนอมซอน พักอยู่สองคืน ภิกษุพม่ารูปหนึ่งซึ่งอยู่ในวัดนั้น นำพระเช่นนี้มาให้องค์หนึ่ง พระนันทะยะสัทธิงวิหาริกของท่านได้ถามว่า พระเช่นนี้เรียกพระอะไร พระพม่านั้นบอกว่า เรียกพระทักขิณสาขา ได้มาจากเมืองอังวะ ผู้ถามจึงถามว่า เหตุใดจึงมีหมวกสวมอยู่บนศีสะ พระพม่าอธิบายว่า พระอุปคุตะเถระองค์นี้ อยู่ในปราสาทแก้วใต้น้ำ เดินไปในกลางฝนเหมือนอย่างมีร่มกั้นไม่เปียกกาย บางทีเห็นนั่ง ลอยขึ้นล่องแสงแดดไม่ต้องกาย มีคำกล่าวกันว่าชาวเมืองรางกูนผู้หนึ่ง ได้ตักบาตรพระอุปคุตแล้วได้เป็นเศรษฐี ชาวเมืองรางกูนทั้งปวงจึงพากันหุงเข้าแต่ยังไม่สว่าง คอยตักบาตรพระอุปคุตจนทุกวันนี้ก็ยังมี ความนับถือพระอุปคุตเช่นนี้แพร่หลายมากขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดได้โอกาศตักบาตรพระอุปคุต จึงได้กล่าวว่า ถึงว่าไม่ตักบาตรแต่เพียงได้ทำสักการบูชา ก็จะมีผลานิสงษ์เหมือนกัน จึงได้พากันสร้างรูปพระอุปคุตขึ้นทำสักการยูชา ซึ่งทำเป็นใบบัวคลุมอยู่บนพระเศียรนั้น สมมุติว่าเปนเงาที่กันน้ำฝนแลแดดรูปเหมือนใบบัว พวกเมืองอังวะทราบเรื่องจึงเลียนไปทำแพร่หลายมากขึ้น
                          นัยหนึ่งว่าพระเจ้าอังวะองค์หนึ่ง ประสงค์จะใคร่สร้างพระพุทะรูปด้วยกิ่งพระศรีมหาโพธิ แต่มีความสงไสยอยู่ว่าจะควรฤาไม่ จึงให้ปรุชุมพระเถรานุเถระปฤกษา พระเถระทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่าเปนการควร จึงได้แต่งบรรณาการให้อำมาตย์ ๘ คน กับไพร่ ๑๖๐ ให้ไปเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิที่ว่านี้ ดูทีเหมือนจะไปอินเดีย ก็พากันไปตายสูญเสียเปนอันมาก เหลือมา ๑๖ คน ไม่ได้พระศรีมหาโพธิมา จึงให้ไปเชิญกิ่งเบื้องขวาพระศรีมหาโพธิที่เมืองลังกาได้มาแล้ว ให้สร้างเปนพระพุทธรูปน่าตักกว้างศอกหนึ่ง เศษเหลือนั้นให้สร้างพระสาวก พระพุทธรูปที่มี ปลา ปู ดอกบัว อยู่ใต้ฐานนั้น สำหรับสังเกตว่าเปนรูปพระอุปคุต พระพุทธรูปเดิมนั้นสร้างด้วยทักขิณสาขาของพระศรีมหาโพธิจริง แต่ภายหลังมามีผู้สร้างมากขึ้นก็ใช้กิ่งไม้อื่นบ้าง ข้อความที่กล่าวมานี้ท่านทราบจากพระพม่ารูปนั้นบ้าง ที่ผู้ใหญ่เล่ามาแต่เดิมบ้างดังนี้
                         ฟังดูเรื่องที่เล่าก็เปนเฉียด ๆ ไปกับเรื่องเดิม อย่างไรจะถูกก็ตัดสินไม่ได้แน่ แต่พระเช่นนี้ใช้ตั้งในการพระราชพิธีฝนหลายองค์ยังรูปพระมหาเถรอีกองค์หนึ่ง ที่แขนเป็นลายรียาวเรียกว่าพระมหาเถรแขนลายก็เปนพระตั้งขอฝนอีก มีเรื่องราวเปนเกร็ด ๆ อย่างเดียวกันกับพระที่คลุมใบบัว ข้าพเจ้าจำไม่ได้เสียอีก จะถามผู้ใดก็ยังนึกหน้าไม่ออกว่าผู้ใดจะจำเรื่องราวได้ แต่พระองค์นี้อยู่ที่หอพระคันธารราษฏ์ท้องสนามหลวง เปนพระหล่อด้วยทองสำริดรมดำไม่ได้ปิดทอง
         ยังมีพระราชนิพนธ์ต่อไปอีกมากผมจะหาโอกาสนำมาเสนอให้ผู้สนใจต่อไปครับเพราะจะเกี่ยวพันกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ อีกหลายองค์ที่ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ครับ.
                         
                       
                                     

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

 เมื่อพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ได้ประทับที่ตำหนักที่โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างในพระราชวังดุสิต ซึ่งเรียกว่า ตำหนักฝรั่งกังไส  ได้ สิบเอ็ดเดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ นับจนถึงปีนี้ได้ หนึ่งร้อยปี พระราชชายา และ พระบรมวงศ์สานุวงค์ฝ่ายในต้องเสด็จกลับเข้าในพระบรมมหาราชวังทั้งหมด พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีก สามปีเศษ ก็กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประทับที่นครเชียงใหม่ รายละเอียดในหนังสือที่เจ้าแก้วนวรัฐทรง ดังนี้
ตอนที่ ๗ หน้า ๙ 
                                                    เสด็จกลับมาประทับอยู่เชียงใหม่
                          เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ เจ้าแก้วนวรัฐ ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชชายา ฯ ได้กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อคืนมาประทับอยู่ที่นครเชียงใหม่ ได้ มีพระราชดำรัสเหนือเกล้า ฯ ว่า ถ้าเจ้าแก้วนวรัฐ ฯ รับรองจะให้ความสุขและรักษาความปลอดภัยได้ ก็จะโปรดเกล้า ฯ ให้ ขึ้นมา เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ รับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชประสงค์ จึงได้รับพระราชทานบรมราชานุญาต.
                          วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ เสด็จจากกรุงเทพ ฯ โดยขบวนรถไฟ ซึ่งเวลานั้นถึงเพียงเด่นไชย แต่กรมรถไฟหลวงได้จัดรถพิเศษถวายจนถึงสถานีผาคอ ต่อจากผาคอเสด็จโดยขบวน ช้างม้านับด้วยร้อย คนหาบหามกว่าพัน ซึ่งเจ้านายข้าราชการทั้งเชียงใหม่ ลำพูนลำปางจัดไปคอยรับ เสด็จถึงเชียงใหม่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗  ครั้งนี้ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นางสนม กรมวัง คุณท้าว เฒ่าแก่ จ่า โขลน ตามเสด็จอย่างครั้งแรก และโปรดเกล้า ฯ ให้มหาเสวกโท พระยาเวียงในนฤบาล เป็นผู้กำกับการอยู่ประจำพระองค์ได้ ๕ เดือนเศษ จึงโปรดเกล้าให้พระยานิพันธ์ราชกิจขึ้นมาเปลี่ยน แต่ผลัดเปลี่ยนกันอยู่เช่นนี้ได้ประมาณปีเศษ พระองค์ทรงเห็นว่าที่โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าราชการผู้ใหญ๋ผู้น้อย คุณท้าว เฒ่าแก่ สนม กรมวัง ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาอภิบาลเช่นนั้นย่อมเป็นการลำบาก จึงขอพระราชทานให้งดเสีย โดยขอให้เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ กับเจ้านายในนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระญาติรับผิดชอบแทน.
                         ตั้งแต่พระองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่นครเชียงใหม่ ก็ได้ทรงอุปการะแก่พระประยูรญาติทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และจังหวัดอื่น ตลอดถึงสมณชีพราหมณ์และประชาชนทั่วไป เนื่องจากเหตุนี้จึงรับสั่งให้คนไปสืบหาเครือญาติถึงลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงรายเป็นหลายครั้ง เมื่อทรงทราบว่าผู้ที่มีอายุคนรู้จักเครือญาติมากก็ไปเชิญตัวมาซักไซ้ไล่เรียงด้วยพระองค์เอง โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายและยังได้ประทานรางวัลอีกด้วย ซึ่งพระองค์ต้องสิ้นเปลืองแลเสียเวลามาก นับว่าพระองค์รวบรวมเครือญาติได้เกือบหมด แต่ไม่ทันพิมพ์เป็นเล่มก็มาสิ้นพระชนม์เสีย ซึ่งผู้ที่อยู่ภายกลังจะต้องพยายามในเรื่องนี้ต่อไป
                        พระองค์ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระวรพุทธสาสนา และทรงพระเมตตากรุณาเผื่อแผ่แก่พ่อค้าคฤหบดี กับแสดงพระอัธยาศรัยไมตรีแก่ประชาชนทั่วไปอย่างดียิ่ง ทั้งน้ำพระทัยก็กว้างขวาง ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเอาพระทัยฝักไฝ่ช่วยเหลือการงานของรัฐบาลบางอย่าง ในบางครั้ง เพราะทรงรอยรู้ในระเบียบแบบแผนราชการ และประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ นาฎศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หัตถศาสตร์ เป็นอย่างดี ทั้งทรงรู้จักคุ้นเคยกับเจ้านาย ข้าราชการมากด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเจ้านายข้าราชการพระองค์ใด ผู้ใด เสด็จและมาสู่นครเชียงใหม่คราวใด พระองค์ก็ทรงเอื้อเฟื้อรับรอง ฝ่ายแขกก็เสด็จเยี่ยมและเฝ้าพระองค์ท่านทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีรัชกาลนี้ สมเด็จพระปิตุลา บรมพงศาภิมุข สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเจ้านายอื่นที่เสด็จเชียงใหม่ทุก ๆ พระองค์ ก็ได้เสด็จเสวยพระกระยาหารที่วังพระองค์ท่าน.
       จบตอนที่ ๗ หน้า ๑๑ ตอนต่อไปเป็นพระราชกิจที่ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยียน และทอดพระเนตรทั่วทั้งแผ่นดินล้านนาทรงเอาพระทัยการทำมาหาเลี้ยชีพผู้ที่อยุแถบที่เสด็จไปถึง 

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระราชประวัติ สมเจพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

MUSEUM BENJAPON: พระราชประวัติ สมเจพระศรีนครินทราบรมราชชนนี: "พระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๓ พระนามเดิม สังวาลย์ ในครอลครัวช่างทอง แถบวัด อนงคาราม ธนบุรี การศึกษา ปร..."

MUSEUM BENJAPON: สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

MUSEUM BENJAPON: สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี: " สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามเดิม สังวาลย์ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า..."

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " หลายท่านคงแปลกใจที่ผมนำพระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี มานำเสนอ มีเหตุผลอยู่หลายประการ คือ ปีนี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอ..."

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " สวัสดีครับก่อนจะต่อในพระประวัติ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จากตอนที่ ๓ มี หลายเรื่องที่จะเล่าให้ฟังครับ ตอน แล้วลงเรือประพาส มีเรือแม่ปะ สีด ..."

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " ครับจากในหนังสือพระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมีทั้งสามตอนท่านได้ทราบถึงสายปฐมวงศ์ของพระองค์แล้วต่อมาในหนังสือก็จะกล่าวถึงการเสด็จกลับมา..."

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " กลับมาแล้วครับก่อนถึงตอนที่ ๓ ผมขออนุญาติเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจ ที่ข้อความว่า พระราชชายาฯ มีพระธิดาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เ..."

พระราชประวัติ สมเจพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๓ พระนามเดิม สังวาลย์ ในครอลครัวช่างทอง แถบวัด 
                        อนงคาราม ธนบุรี
การศึกษา ประกาศนียบัตร วิชาพยาบาล ดรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราชพยาบาล
                 ทรงได้รับทุนพระราชทานไปศึกษาต่อวิชาพยาบาลระดับสูงที่สหรัฐอเมริกา
                 วิชาเตรียมพยาบาล วิทยาลัยชิมมอนส์ สหรัฐอเมริกา
                 วาชาสาธารณสุขโรงเรียน สถาบันเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา
ครอบครัว ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช พระราชโอรสใน
                 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕   เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๓
                 ทรงมีพระโอรสธิดา ๓ พระองค์คือ
                 ๑.สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนาราธิวาสราชนครินทร์
                     ประสูตร พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ.ประเทศอังกฤษ
                 ๒.พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐรามาธิบดินทร
                     พระราชสมภพ พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ.ประเทศเยอรมัน
                 ๓.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
                     พระราชสมภพ พ.ศ.๒๔๗๐ ณ.สหรัฐอเมริกา
                     สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๒ จากนั้น
พ.ศ.๒๔๗๖ ทรงประทับที่เมื่องโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพระอนามัยของพระโอรสองค์โต ที่ไม่สู้แข็งแรง และการศึกษาขอพระโอรสธิดา พ.ศ.๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นครองราชเป็นรัชการที่ ๘ และเมื่อสิ้นพระชนม์พระ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชเป็นรัชการที่ ๙ พ.ศ.๒๔๘๙ ทรงประทับที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนกระทั่งถึง ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จึงเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ทรงเสด็จประพาสหัวเมืองพร้อมทรงงานเยี่ยมเยียนราษฏรและเจ้าหน้าที่ในถิ่นทุรกันดาร ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนางานหัตถกรรมชาวเขา การฟื้นฟูการปลูกป่า การพัฒนาคุณภาพชีวินที่ดอยตุงเพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้ในชนบทได้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ทรงงานด้านศิลปะหัตถกรรมด้วยพระองค์เอง จนเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ทรงเสด็จสวรรคต แต่งานที่ทรงริเริ่มและทำไว้ พระราชโอรส พระราชธิดาและพระนัดดาได้ทรงสืบสานต่อไป.


                     

การ์เรียนเชิญเปิดและชมนิทรรศการ

การ์เรียนเชิญเปิดและชมนิทรรศการ
นิทรรศการตั้งแต่ ๑๕ พย.ถึง ๑๕ ธค.นี้

In this photograph if you know please tell me where they are ?

In this photograph if you know please tell me where they are ?
ภาพถ่ายชุดนี้ คุณพ่อผมถ่ายไว้เป็นจำนวนมากเมื่อ ไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ หกสิบ ถึงเจ็ดสิบปีมาแล้ว ท่านเสียชีวิตไปปี ๒๕๑๓ เอกสารบางอย่างถูกน้ำถ่วมและสูญหาย ทำให้ไม่ทราบถึงสถานที่ในภาพ ถ้าหากท่านทราบกรุณาบอกผมด้วยขอบคุณครับ

In this photograph if you know pleas tell me where they are ?

In this photograph if you know pleas tell me where they are ?
รูปแกะสลักนี้ตั้งอยู่ที่ไหนครับทราบโปรดบอกด้วยครับขอบคุณครับ

Please tell me where they are ?

Please tell me where they are ?
รูปเหล่านี้เป็นเทพฯของอียิปต์ยุกต์โบราณ

Please tell me where they are ?

Please tell me where they are ?
หน้าจะเป็นเทพฯ หรือ ราชินีองค์หนึ่งในอียิปต์โบราณ ถ้าสรวมหมวกรูปบัลลังก์ จะป็นเทพไอซิส

Please tell me were they are ?

Please tell me were they are ?

Please tell me where they are ?

Please tell me where they are ?

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู้หัว

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู้หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช เทิดพระเกียรติในวาระ ๑๐๐ ปี วันสวรรคต ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓ (มีบทความด้านล่าง)

พระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
๑๑๐ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์มิรู้ลืม ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นายเบญจพล สิทธิประณีต.

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระโอรสธิดา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระโอรสธิดา
สมเด็จย่าทรงกับพระโอรสธิดาครั้งทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐรามาธิบดินทร รัชการที่ ๘ สมเด็จย่า ฯ พระอนุชา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐรามาธิบดินทร รัชการที่ ๘ สมเด็จย่า ฯ พระอนุชา
ในหลวงรัชการที่ ๘ สมเด็จย่า และพระอนุชา (ในหลวงรัชกาลที่ ๙)

ทรงงาน

ทรงงาน
พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ ๙ และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงงาน

สมเด็จแม่ฯ

สมเด็จแม่ฯ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

สูจิบัตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๙ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์ มิรู้ลืม

สูจิบัตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๙ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์ มิรู้ลืม
นิทรรศการ ๑๐๙ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์ มิรู้ลืม ณ.ศูนย์ศิลป์ศรีพิพัฒน์(แพ บุนนาค) งานเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๙ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ (มีรูปงานนิทรรศการด้านล่าง)

My collection-ภาพเก่าเล่าอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

My collection-ภาพเก่าเล่าอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จพระราชดำเนินวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่(พ.ศ.2501)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)
เสด็จพระราชดำเนินวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)
ทั้งสองพระองค์บริเวณบันไดนาควัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

พระบัวเข็ม

พระบัวเข็ม
พระบัวเข็ม ที่บ้านจะมีจานเชิงใส่นำรองอยู่ด้านล่างองค์พระซึ่งทำจากไม้ลงรักปิดทอง

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
Tn the town by Vimol Siddhipraneet.

The way of life in u.s.a.

The way of life in u.s.a.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A

The way of life in U.S.A
In the town.

ภาพถ่ายในสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายในสหรัฐอเมริกา
ถ่ายโดย คุณพ่อวิมล สิทธิประณีต.เมื่อครั้งไปสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา
คุณพ่อวิมล สิทธิประณีต.ถ่าย เมื่อทำงานสำนักข่าวสารอเมริกัน

ภาพถ่ายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
คุณพ่อวิมล สิทธิประณีต.ถ่าย ล้าง และอัดเอง ท่านมีห้องมืดที่บ้าน.