วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชกุศล เดือนอ้าย

 ในเดือนอ้ายมีการพระราชกุศลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ดังนำมาเสนอนี้ หน้าที่ ๗๐

    การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
 กำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ว่าเมื่อพระอาทิตย์ออกสุด
ทางใต้ตกนิจเปนวันที่หยุด จะกลับขึ้นเหนือ อยู่ในองษา ๘ องษา ๙
ในราษีธนู เปนถึงกำหนดเลี้ยงขนมเบื้อง ไม่กำหนดว่าเปนกี่ค่ำ
วันใด การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ไม่ได้มีสวดมนต์ก่อนอย่างเช่นพระราช
พิธีอันใด กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ พระราชาคณะ ๘๐ รูป
ฉันในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ขนมเบื้องนั้นเกณฑ์พระบรมวงษา
นุวงษ์ฝ่ายใน ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ หนักงาน
คาดประรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง การซึ่งกำหนดเลี้ยงขนม
เบื้องนี้นับเปนอย่างตรุศคราวหนึ่ง แลเฉภาะต้องที่กุ้งมีมันมาก
จึ่งเปนเวลาที่เลี้ยงขนมเบื้อง แต่การเลี้ยงขนมเบื้องในแผ่นดิน
ประจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จออกมาหลายปีแล้ว ค่อนอยู่ข้างจะเปน
การมืด ๆ

     ในพระราชนิพนธ์คงมีเท่านี้ครับเลยยังไม่ทราบถึงความเชื่อหรือเกี่ยวข้องกับอะไรคงต้องค้นคว้าต่อไปครับ

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชพิธีเดือนอ้าย

 วันนี้ผมอัญเชิญพระราชนิพนธ์พระราชพิธีเดือนอ้ายมาต่อน่ะครับ
หน้าที่ ๖๗ ถึงหน้าที่ ๖๙

   แต่การพิธีที่ขึ้นไปทกอย่างไรต่อไป ก็ไม่ได้ตำราชัดเจน
เปนแต่ได้ทราบตามคำบอกเล่าว่ามีกระบวนแห่คล้ายเสด็จพระราช
ดำเนินพระกฐิน เชิญพระพุทธปฎิมากรลงเรือพระที่นั่งมาน่า แล้ว
มีเรือศรีโขมดยาสำหรับพระสงฆ์ตามมาภายหลัง เรือลำหนึ่งมี
พระราชาคณะรูป ๑ มีถานานั่งสองข้าง กลางตั้งเครื่อนมัสการ
แต่เวลาที่มาตามทางนั้นพระสงฆ์จะสวดคาถาอันใดก็ไม่ได้ความ
ได้ทูลถามพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ไม่
ทรงทราบ ด้วยเวลานั้นยังมิได้ทรงเกี่ยวข้องในการพระราชพิธี
การทั้งปวงนั้ตกอยู่วัดพระเชตุพนทั้งสิ้น จะหาเค้ามูลอันใดที่ควร
จะใช้ในการพระราชพิธีนี้ก็ไม่เห็นมี บางทีจะเปนคาถาเก็บเล็ก
ประสมน้อย ทำขึ้นใหม่คล้ายคาถาสวดหล่อพระไชย ซึ่งกรม
สมเด็จพระปรมานุชิตทรงแจกให้สวดในรัชการที่ ๔ เปนถาคาที่มี
คำไชยะไชยะบ่อย ๆ เห็นว่าจะยกมาจากมหาไชย คาถาไล่น้ำนี้
ถ้าจะมีวิเศษ ก็คงจะเปนของทำใหม่คล้ายเช่นนั้น
    การซึ่งมีกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน อย่างพิธีไล่เรือครั้ง
กรุงเก่านั้น ในปีเถาะตรีศกนี้ทราบว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิ
พลเสพ เสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ มีการะบวนเรือกันเรือตาม
เหมือนอย่างกระบวนกฐิน ไปตั้งกระบวนมาแต่เมืองนนทบุรี ลง
ไปจนถึงปากน้ำเหมือนกัน แต่เชื่อได้แน่ว่าไม่ทรงส้าวเปนแน่ การ
พระราชพิธีไล่เรือฤาไล่น้ำเก็บความได้เพียงเท่านี้
   ส่วนพิธีเดือนยี่ที่มีมาในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งว่ายกขึ้นมา
เดือนอ้าย คือพิธีบุษยาภิเศกอย่างหนึ่ง พิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยง
อย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ นี้พิธีก็ไม่ได้ทำที่กรุงเทพ ฯ เลย พิธีบุษยาภิเศก
นั้นถ้าจะเทียบชื่อกับพิธีกะติเกยาก็เปนชื่อพิธีสำหรับเดือนยี่ แต่ครั้ง
กรุงเก่าจะยกมาทำเดือนอ้ายฤาไม่ยกมาก็ยังว่าแน่ไม่ได้ ด้วย
พิธีกะติเกยาที่เปนชื่อพิธีเดือนสิบสองยังยกไปเดือนอ้ายได้ แต่
ถ้าพิธีนั้นยังคงอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะโปรด
ให้ทำเดือนยี่เปนแน่ ได้พบในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัด
ว่าไว้ในเดือนยี่ เพราะฉนั้นจึงจะต้องยกพิธีบุษยาภิเศกไปว่าในเดือน
ยี่ แต่เฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้น คงจะยกมาทำในเดือนอ้ายแน่ การ
พระราชพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้น มีในกฎมณเฑียรบาลว่านำ
พระโคอุศุภราชซึ่งแต่งตัวเขาบุทองประดับเนาวรัตน์ มีเครื่องประ
ดับกีบตาบหูสายสพายใช้ไหม ขึ้นยืนบนแท่นสูง ๒ ศอก มีเงินทอง
แก้วแหวนแลแพรพรรณต่าง ๆ กองอยู่ใต้ท้อง ตั้งพานทองรอง
หญ้า คนโททอง พระโคนั้นแปรหน้าไปทางทิศอุดร ตั้งกุณฑ์
คือกองเพลิงพิธี ตามหน้าพระโค มีบายศรีสมโภช พระราชครู
ประจำที่สี่มุม ทำพิธีบูชากุณฑ์ตลอดคืนยันรุ่ง พระราชกุมารป้อน
หญ้า ครั้นเวลารุ่งเช้ามีกระบวนแห่เสด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงถือ
ดอกบัวทอง พระอรรคมเหษีทรงถือดอกบัวเงิน แห่ประทักษิณ
พระโคอุศุภราชเก้ารอบแล้วมีสมโภชเลี้ยงลูกขุน พระราชพิธีนี้
ทำในพระราชวัง แต่เห็นจะเลิกมาเสียช้านานทีเดียว จนใน
คำให้การขุนหลวงหาวัดก็ไม่มีปรากฎ พิธีเฉวียนพระโคนี้ เปนพิธี
ใบโตเต็มที จึงไม่ตั้งอยู่ได้ช้านาน ซึ่งเห็นมาว่านี้เพราะในเดือน
อ้ายไม่มีพิธีอันใด มีแต่การพระราชกุศลประจำปี ฯ

        ในพระราชนิพนธ์ด้านบนนี้เป็นพระราชพิธีเดิมซึ่งไม่ได้ทำต่อมาถึงรัชการของพระองค์และไม่มีสืบมาจนทุกวันนี้ครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การลอยพระประทีป ( พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีสิบสองเดือนป

 วันนี้ผมจะนำพระราชนิพนธ์ในเดือนสิบสองการลอยพระประทีปมานำเสนอต่อเลยน่ะครับ หน้าที่ ๓๒ ถึงหน้าที่ ๓๔ ดังนี้ครับ

   เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีรกาสัปต
ศก ๑๑๘๗ ปีจออัฐศก ๑๑๘๘ โปรดให้พระบรมวงษานุวงษ์ข้าราช
การทำกระทงใหญ่ถวาย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์จดหมายไว้ว่า
"ครั้นมาถึงเดือนสิบสองขึ้นสิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจอง
เปรียงนั้นเดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายน่าฝ่ายใน
แลข้าราชการมีกำลังพาหนะมากทำกระทงใหญ่ ผู้ต้องเกณฑ์ต่อ
เปนถังบ้าง ทำเปนแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง
กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอกทำประกวดประขันกันต่าง ๆ
ทำอย่งเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง แลทำเปนกระจาดชั้น ๆ บ้าง
วิจิตรไปด้วยเครืองสดคนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทง
ทั้งค่าเลี้ยงคนเลี้ยงพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึงยี่สิบชั่งบ้าง ย่อมกว่ายี่สิบ
ชั่งบ้าง กระทงนั้นวันสิบสี่ค่ำเครื่องเขียว สิบห้าค่ำเครื่องขาว
แรมค่ำหนึ่งเครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง แล
มีจักรกลไกต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็
มีบ้าง เหลือที่จะพรรณาว่ากระทงท่านผู้นั้นทำอย่างนั้น ๆ คิดดู
การประกวดประขันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่าง ๆ กัน เรือมาดู
กระทงตั้งแต่บ่าย ๔ โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่แต่บ่าย ๕
โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ใคร่จะไหวดูเปนอัศจรรย์ เรือ
ข้าราชการแลราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำ ที่ต้องขอแรงทำกระทง
นั้น ในพระบรมวงษานุวงษ์ผู้ใหญ่ คือ กรมหมื่นสุนินทรรักษ์ ๑
กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (คือหม่อมไกรสร) ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร
(คือกรมสมเด็จพระเดชาดิศร) ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ (คือ
กรมพระพิพิธภูเบนทร์) ๑ ขุนนาง ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑
ท่านพระยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ๋) ๑ ท่าน
เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ๑ พระยา
พิไชยวารี (คือเจ้าพระยานิกรบดินทร์) ๑ พระยาราชมนตรี (ภู่) ๑
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ๑ รวม ๑๐ กระทง"

    คงยังมีต่ออีกครับจะนำเสนอต่อไป.
    

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชพิธีเดือนอ้าย

ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีเดือนอ้ายนี้ทรงไว้อย่างล่ะเอียดหน้าศึกษายิ่งถ้าหากได้ลองอ่านดูมีอะไรที่แฝงอยู่มากครับ วันนี้นำ หน้าที่ ๖๖ ถึงหน้าที่ ๖๗ มาให้อ่านเลยน่ะครับ

             บัดนี้จะยกแต่รายการพระราชพิธีไล่น้ำเมื่อปีเถาะตรีศกมาว่า
ไว้พอเปนตัวอย่าง ด้วยพิธีนี้คงจะไม่มีอีกต่อไปภายน่า การที่ทำนั้น
ว่าขึ้นไปตั้งประชุมกันนที่วัดท้ายเมืองแขวงเมือนนนทบุรี มีอาลักษณ์
ฤาราชบัณฑิตอ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิฐานมัสการพระรัตนไตรย
แลเทพยดา และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับเปนสมมุติเทพยดา แล้ว
อ้างความสัตย์ซึ่งได้มีความนับถือต่อเทพยดาทั้งสาม คือวิสุทธิ
เทพยดา อุปปาติกเทพยดา สมมติเทพยดา ขอให้น้ำลดถอยลง
ไปตามความประสงค์ ข้อใจความในคำประกาศมีอยู่เพียงเท่านี้
    แต่พระพุทธรูปซึ่งใช้ในการพระราชพิธีไล่น้ำนี้ ที่ปรากฎใน
คำประกาศ มีชื่อแต่พระไชย พระคันธารราษฎ์ หามีพระห้าม
สมุทไม่ แต่ได้ทราบจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวิริยา
ลงกรณ์ ว่าเมื่อเวลาปีเถาะตรีศกนั้นท่านพึ่งทรงผนวชได้ ๓ พรรษา
ทราบว่าเกิดมีข้อเถียงกันว่าด้วยเรื่องพระห้ามสมุทซึ่งจะเชิญไปไล่น้ำว่าจะเปนอย่างที่ยกพระหัตถ์เดียวฤาสองพระหัตถ์เปนห้ามสมุทแน่
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตัดสินไว้ว่ายก
สองพระหัตถ์ เปนเหตุให้พอสันนิฐานได้ว่าพระสำหรับไล่น้ำตาม
คำประกาศ ซึ่งอ้างถึงว่าพระคันธารราษฎ์ดูไม่เข้าเรื่องกันกับที่จะ
ให้น้ำน้อยนั้น ถ้าจะได้คงจะได้ใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ด้วยเปนเวลาที่แรกสร้าง อยู่
ข้างจะโปรดปรานมาก การที่เอามาใช้ในการไล่น้ำ ก็คงจะถือว่า
พระพุทธปฎมากรอย่างนั้น เปนที่ทำให้น้ำฝนตกลงมาได้ ก็คงจะ
ทำให้แห้งได้ ด้วยในเวลานั้นตำหรับตำราอันใดก็สูญหาย เปน
แต่ทำไปตามอันโนมัติหาเหตุผลที่จะเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าทำพิธี
มีเค้าเงื่อนอันใดก็ยกหยิบเอามา พอเปนเหตุที่ตั้งแห่งความสวัสดิมงคล
ยิ่งใหญ่กว่าเทพยดา ครั้นตกมาแผ่นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระ
นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไปเห็นเค้าเรื่องที่ทรมานชฎิล พระพุทธเจ้า
เสด็จอยู่ในที่มีน้ำถ่วมโดยรอบก็ไม่ถ่วมถึงพระองค์ เปนเค้ามูลดี
กว่าพระคันธารราษฎ์ จึงได้เปลี่ยนพระห้ามสมุท การซึ่งโจทย์
เถียงกันนั้นก็จะเปนด้วยไม่เคยใช้มา แต่พอรู้ได้ว่าคงใช้พระห้าม
สมุทเปนแน่

  ในพระราชนิพนธ์ตอนนี้กล่าวถึงพระที่ใช้ในพิธีว่าใช้พระพุทธรูปใดในสมัยก่อน ๆ ครับ


            

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชพิธีเดือนอ้าย

พระราชพิธีเดือนอ้ายมีความหน้าสนใจอย่างมากมีรายละเอียดที่เกี่ยวพันกับภูมิปัญญาและความเชื่อมาแต่สมัยโบราณดังพระราชนิพนธ์ตอนที่แล้วและตอนต่อ ๆไป ดังนี้
หน้าที่ ๖๔ ถึงหน้าที่ ๖๖
     ส่วนการพระราชพิธีไล่เรือนั้นเปนพิธีข้างจะให้น้ำลดเร็ว ๆ คือ
ถึงเดือนเดือนอ้ายแล้วน้ำยังมากไม่ลด เมล็ดเข้าในรวงแก่หล่นร่วงลง
เสียในน้ำ ถึงโดยว่าจะค้างอยู่ก็เปนเข้าเมล็ดหักลเอียดไป เพราะ
เกี่ยวไม่ได้ด้วยน้ำมาก จึงต้องกระวนกระวายขวนขวายที่จะให้น้ำ
ลด การพิธีนี้คงจะต้องทำในเดือนอ้าย จะเลื่อนไปเดือนยี่ก็เปน
เวลาเกินต้องการไป ตามในกฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้ว่า พระเจ้า
แผ่นดิน แลพระอรรคมเหสี พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ แลพระ
สนม แต่งอย่างเต็มยศโบราณลงเรือพระที่นั่ง เจ้าพระยามหาเสนา
ตีฆ้อง มีจดหมายไว้ว่า ครั้นถึงท้ายบ้านรุนเสด็จออกยืนทรงพัชนี
ครั้นถึงประตูไชยทรงส้าว ดูอยู่จะทำธุระเหลือเกินมาก แต่
การที่ทำอย่างนี้ คงจะเปนพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่ง
มีพระอัธยาไศรและพระอาการที่ประพฤติว่องไวเช่นนั้นเปนปรกติ
พระองค์ เหมือนอย่างแผ่นดินพระเพทราชาที่ทรงถือพัชนีฝักมะขาม
เสมอ ๆ เสด็จออกในการชักพระบรมศพทรงโบกพัชนีสามครั้ง
ให้ทิ้งทาน ก็คงจะไม่เปนตำแหน่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้อง
ทางโบกพัชนีเช่นนั้นทั่วทุกพระองค์ เปนแต่เฉภาะพระอัธยาไศรย
ของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นเปนเช่นนั้น ซึ่งจะเอามาเรียบเรียงหนัง
สือในครั้งอื่นคราวอื่น ว่าทรงโบกพัชนีฝักมะขามเช่นนั้นก็เปนการ
ไม่จริง แลเปนการไม่ควรด้วย เหมือนทรงส้าวนี้ก็คงจะเปนเฉภาะ
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้เคยทรงทำเช่นนั้นแล้วจด
หมายไว้ เหมือนอย่างพระเพทราชาโบกพัชนีฝักมะขาม ที่จะ
ว่าถ้าตั้งพระราชพิธีไล่เรือแล้วจะต้องทรงส้าวอี๋ ทรงส้าวอี๋ไปเสมอ
นั้นไม่ได้ แลพิธีไล่เรือนี้ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เปนพิธีที่ทำเสมอ ใช่ว่า
แต่ไม่เสมอทุกปี ไม่เสมอทุกแผ่นดินด้วย เพราะฉนั้นจึงควรสันนิ
ฐานว่า ซึ่งอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเช่นนั้นเปนการเฉภาะพระองค์
ต้องเข้าใจว่าไม่เปนพิธีทำทุกปี ทำแต่ปีใดจะต้องการที่จะให้น้ำลด
    พิธีนี้ได้ทำที่กรุงเทพ ฯ ครั้งหนึ่งเมื่อปีเถาะ ตรีศก ๑๑๙๓ เปน
การที่รู่แน่ชัดว่าได้ทำ แต่เมื่อปีมเสงสัปตศก ๑๑๔๗  แผ่นดินพระ
บาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ จะได้ทำฤาไม่ได้ทำไม่มี
ผู้ใดเล่าให้ฟัง สังเกตได้แต่ในคำประกาศเทวดาซึ่งมีอยู่เปนสำนวน
ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า แต่ฉบับนั้นคงจะเปน
เขียนคัดลอกใหม่เมื่อปีเถาะตรีศก พอจะสังเกตสำนวนแลลาย
มือในสองรัชกาลได้ จึงควรเข้าใจว่าการพิธีนี้คงจะทำในปีมเสง
สัปตศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ครั้ง
หนึ่ง ในปีเถาะตรีศกแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียกว่าพิธีไล่เรือ เรียกว่าพิธีไล่น้ำ ครั้นมาถึง
แผ่นดินปัตยุปันนี้ปีมแมตรีศก ๑๒๓๓ น้ำมากเกือบจะเท่ากับที่น้ำ
มากมาแต่ก่อนก็ไม่ได้ทำ เปนอันเลิกสูญกัน

   ในพระราชนิพนธ์ตอนนี้จะทรงชี้แจงรายละเอียดและการจัดให้มีพระราชพิธีนี้ ในเวลาใด และในรัชการใดและเพื่อการใดทำให้ท่านผู้อ่านได้ทราบอย่างชัดเจน ในครั้งต่อไปทรงแจงถึงพระราชพิธีอย่างละเอียดเชิญติดตามต่อไปครับ.

     

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา...

MUSEUM BENJAPON: พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา...: " นี้ก็เข้าเดือนอ้ายมาหลายวันแล้ววันนี้ก็ขึ้น ๗ ค่ำเดือนอ้ายแล้วผมยังนำเสนอพระราชพิธีเดือนสิบสองไม่จบเลยตั้งใจว่าจะนำเสนอจบเป็นเดือนๆไป..."

พระราชพิธีการลอยพระประทีป เดือนสิบสอง

  ตามที่ผมได้เรียนไปแล้วว่าการลอยพระประทีปนี้มีเนื้อหาที่ยาวจะค่อย ๆนำเสนอไปจนจบน่ะครับ
หน้าที่ ๓๑ ถึงหน้าที่ ๓๒
   บรรดาเรือที่ทอดทุ่นทั้งปวงมีปืนหลักทอง ปีนจ่ารงค์ มีโคม
เพ็ชร โคมสานประจำทุกลำเรือ แต่เจ้ากรมพระตำรวจนั้นแห่เสด็จ
ลงไปถึงท่าราชวรดิฐแล้วจึงได้ลงเรือไปขับทุ่นตามน่าที่ เวลาเสด็จ
ขึ้นเจ้ากรมพระตำรวจไม่ได้แห่เสด็จ ในเวลาเมื่อลอยพระประทีป
นั้นมีเรือคอยปักโคมกลีบบัว พายขึ้นล่องอยู่ทั้งข้างนอกข้างใน
ทุ่นสายในจนตลอดเวลาเสด็จขึ้น บนฝั่งข้างฝั่งตวันตกมีเจ้ากรม
ปลัดกรมไพร่หลวงประจำรักษาตรงน่าเรือบัลลังก์ ๕ กอง ข้างฝั่ง
ตวันออกบนชลา พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยมีพิณพาทย์ผู้หญิงสำรับ ๑
โขลนนั่งรายตามชลา เจ้าจอมอยู่งานประจำโมงยามแลเถ้าแก่
รับเสด็จบนพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทหารรักษาป้อม ๒ ป้อมแลราย
ทางตลอดเข้ามาจนในพระบรมมหาราชวัง เจ้ากรมปลัดกรมไพร่
หลวงตั้งกองอีก ๒ กอง คือข้างใต้ฉนวนกอง ๑ ท่าขุนนางกอง ๑
  กระทงหลวงซึ่งสำหรับทรงลอยที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูป
สัตว์ต่าง  ๆ เรือศรี เรือไชย เรือโอ่ เรือคอน แลมีเรือหยวกติด
เทียน ๒ เล่มธูปดอก ๑ ห้าร้อย แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระ
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ลดเรือหยวกลงเสีย เหลือสี่สิบห้าสิบลำ แล
เรือที่ลอยประทีปนั้นของหลวงชำรุดซุดโซมไป โปรดให้ขอแรง
พระบรมวงษานุวงษ์และข้าราชการทำขึ้นทุกกรม เรือหลวงที่ยัง
เหลืออยู่ เรือพระบรมวงษานุวงษ์ที่สิ้นพระชนม์ส่งมาเปนหลวง
ถวายทรงจุดก่อนตอนหนึ่ง แล้วจึงถวายเรือพระบรมวงศานุวงษ์ต่อไป
แต่เรือข้าราชการนั้นเปนเรือกระบวน เมื่อรับสั่งให้ปล่อยเมื่อใด
จึงจุดเทียนปล่อยมาตามกลางน้ำหว่างทุ่นชั้นในกับเรือบัลลังก์ เคย
ปล่อยอยู่เวลาจุดดอกไม้

       ส่วนนี้เป็นรายละเอียดที่ทรงไว้ในพระราชนิพนธ์ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอดีตเราไม่ได้ทำกระทงเปนรูปดอกบัวแต่เป็นเรือ คล้ายๆในภาคเหนือมีการล่องสะเปา และมีเรือที่ทำจากหยวกด้วยเช่นกันยังคงต้องมีการศึกษาเชิงลึกต่อไปครับขอจบตอนนี้แล้วมาต่อใหม่น่ะครับ.

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  นี้ก็เข้าเดือนอ้ายมาหลายวันแล้ววันนี้ก็ขึ้น ๗ ค่ำเดือนอ้ายแล้วผมยังนำเสนอพระราชพิธีเดือนสิบสองไม่จบเลยตั้งใจว่าจะนำเสนอจบเป็นเดือนๆไปแต่ก็ด้วยเนื้อหาในพระราชนิพนธ์ที่ละเอียด และยาวมากทำให้ไม่จบแต่ผมคงจะนำเสนอสลับกันไปเพื่อไม่ให้กระทบกับเดือนอื่นๆ จะกลายเป็นโดมิโน่ไป วันนี้เลยนำพระราชนิพนธ์พระราชพิธีเดือนอ้านมานำเสนอสลับไปก็ขออภัยด้วยครับ
หน้าที่ ๖๓ ถึงหน้าที่ ๖๔
               พระราชพิธีเดือนอ้าย
  การพระราชพิธีในเดือนอ้าย ตามที่มาในกฎมณเฑียร
บาลว่าไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย เช่นได้นับแลอธิบายในคำนำ
นั้นว่าเปนพิธีเปลี่ยนกันกับเดือนยี่ แต่การที่เปลี่ยนกันนั้นประสงค์
ว่าแต่ตรียัมพวายซึ่งยังเปนพิธียังคงทำอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พิธีไล่
เรือซึ่งอยู่น่าพิธีตรียัมพวายนั้นคงยังเปนเดือนอ้ายอยู่ พิธีนี้เปนพิธี
ไล่น้ำตามคำที่กล่าวกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้รับสั่งอยู่เนือง ๆ เปนต้นว่าการที่ยกโคมไชยในพิธีจองเปรียงนั้น
ถือกันว่าถ้าเสาโคมยังไม่ได้ลดแล้ว น้ำยังไม่ลด นัยหนึ่งว่าถ้า
ไม่ยกเสาโคมแล้วน้ำจะลด การที่ยกเสาโคมนั้นเปนเครื่องเหนี่ยว
รั้งให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นเข้าให้แก่ทั่วถึงก่อน เปนพิธีอุปการะแก่การนา
อยู่ด้วย แลมีคำกล่าวว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า
อยู่หัวถ้าเวลายังไม่ได้ลดโคมไชย ถึงว่าจะหนาวเท่าหนาวอย่างไร
ที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้านั้นไม่ได้ กริ้วว่าแช่งให้น้ำลด รับสั้งให้ไปวิด
น้ำเข้านาท้องสนามหลวง แต่ข้อที่ว่าโคมไชยเปนทำนบเปิดน้ำนี้
ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกลาเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าเขาว่าเขาว่าอยู่ ที่
ไม่เห็นลงในประกาศพระราชพิธีจองเปรียง จะเปนด้วยทรงเห็นช่าง
เถอะหนักฤาอย่างไร แต่นับว่าเปนพิธีที่กระวนกระวายขวนขวาย
จะให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นเข้าให้นานหน่อยหนึ่ง

     ในพระราชนิพนธ์นี้ถ้าอ่านแล้วจะเห็นได้ว่าในพระราชพิธีนั้นมีความเกี่ยวพันธ์กับทั้งทางด้านการเกษตรด้วยซึ่งเป็นพระอัฉริยภาพของบุรพกษัตริย์ในอดีตและได้รู้ถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์อีกด้วยอย่างเช่นท้องสนามหลวงในอดีตที่ยังคงปลูกข้าวในฤดูฝน หรือเรืองการแต่งกายเข้าเฝ้าในเวลานั้นอีกด้วยครับ ถ้าหากติดตามต่อไปคงได้ทราบอะไรอีกมากอย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อนล่ะครับ.  

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชพิธีการลอยพระประทีป เดือนสิบสอง

  ในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการลอยพระประทีปรวมทั้งการจัดเรือต่าง ๆ ที่เข้าในพระราชพิธี ดังนี้
หน้าที่ ๒๙ ถึงหน้าที่ ๓๑
                                                ที่หัวเรือบัลลังก์นอกม่านมี
เจ้าพนักงานลงประจำคือกรมวัง ๑ กรมทหารในจางวางเจ้ากรม
ปลัดกรมขุนหมื่น ๘ กรมพระแสงต้น ๑ กรมพระตำรวจนาย
เรือ ๑ รวมหัวเรือ ๑๒ ท้ายเรือบัลลังก์กรมวัง ๑ จางวาง
หัวหมื่นมหาดเล็ก ๖ กรมทหารในเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๘
กรมพระแสงต้น ๑ กรมตำรวจนายเรือ ๑ ภายหลังเติมราช
เอดเดอแกมป์คน ๑ บ้าง ๒คนบ้าง แลเติมทหารปืนแคตตลิง-
กัน ๑ ข้างหัวเรือบัลลังก์มีโขลนลงเรือสำปั้น มีโคมเพ็ชร
จอดประจำอยู่เสมอแนวที่เจ้าคุณนั่งลำ ๑ ข้างท้ายเรือบัลลังก์มี
เรือทหารในลำ ๑ เรือพันพรหมราชสำหรับปล่อยกระทงลำ ๑
การล้อมวงในลำน้ำทอดทุ่นเปนสามสาย สายในมีแพหยวกราย
เปนระยะ มีไต้ประจำทุกแพตลอดหน้าเรือบัลลังก์ เรือประจำทุ่น
สายในข้างเหนือน้ำ กรมกองตระเวนขวา ๑ กรมกองกลางขวา ๑
ประตูกรมพระกระลาโหม ๑เจ้ากรมตำรวจนอกขวา ๑ เจ้ากรม
พระตำรวจสนมขวา ๑ เรือกรมสรรพากรในสรรพกรนอก ๑ ใต้น้ำ 
หัวเรือบัลลังก์ทุ่นสายใน กรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรม
มหาดไทย ๑ กรมกองกลางซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑
เจ้ากรมพระตำรวจสนมซ้าย ๑ เรือทุนกรมท่ากลาง ๑ ภายหลัง
นี้เติมเรือทหารทอดสมอสกัดเหนือน้ำท้ายนำขึ้นอีก ข้างเหนือน้ำ
กรมทหารน่า ๔ ลำ  ข้างใต้น้ำทหารน่า ๒ ลำ
      ทุ่นสายกลางเหนือน้ำ เรือทุ่นกรมอาสาจาม ๒ ลำ เรือทุ่น
กรมเรือกันขวา ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ขวา ๑ เรือสางกรม
ทวนทองขวา ๑ เรือเหรากรมอาสารองขวา ๑ เรือกิเลนกรม
เขนทองขวา ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑ ข้างใต้น้ำ
เรือกรมอาสาจาม ๒ ลำ เรือกรมเรือกันซ้าย ๑ เรือสิงโตกรม
อาสาใหญ่ซ้าย ๑ เรือสางกรมทวนทองซ้าย ๑ เรือเหรากรม
อาสารองซ้าย ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองซ้าย ๑ เรือทุ่นสามพระ
คลังทอดเชือก ๑
     ที่ทุ่นกลางตรงน่าบัลลังก์ มีเรือดอกไม้เพลิง ๒ ลำ เรือ
พิณพาทย์เหนือน้ำ ๑ ลำ ท้ายน้ำ ๑ ลำ  เรือกลองแขกเหนือ
น้ำ ๑ ลำ ท้ายน้ำ ๑ ลำ มีเรือเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ๑ ใหญ่
ซ้าย ๑ อยู่ใต้น้ำ เรือเจ้ากรมตำรวจในขวา ๑ ใหญ่ขวา ๑ อยู่เหนือ
น้ำ จับทุ่นสายกลางทั้งสิ้น มีเรือทหารปืนใหญ่เติมใหม่อยู่นอกทุ่น
สายกลางเหนือน้ำ ๑ ลำ ท้านน้ำ ๑ ลำ
   ทุ่นสานนอกเหนือน้ำ มีเรือกรมกองตระเวนขวา ๑ เรือ
ประตูกรมมหาดไทย ๑ เรือทุ่นกรมอาสาวิเศษขวา ๑ กรมทำลุ
ขวา ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ๑ กรมคู่ชักขวา ๑ ท้าย
น้ำกรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมพระกระลาโหม ๑ เรือกรม
อาสาวิเศษซ้าย ๑ กรมทำลุซ้าย ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง
ซ้าย ๑ กรมคู่ชักซ้าย ๑

              ทั้งหมดเป็นรายละเอียดของเรือต่าง ๆมีสองคำที่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ราชเอดเดอแกมป์ คือราชองครักษ์ และ ปืนแคตตลิงกัน คือปืนกล ครับ ยังคงมีต่อไปครับ.  

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีการลอยพระประทีป เดือนสิบสอง

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีการลอยพระประทีป เดือนสิบสอง: " ครับเรามาทราบถึงพระราชพิธีลอยพระประทีปในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กันต่อเลยน่ะครับ หน้าที่ ๒๗ ถึงหน้าที่ ..."

พระราชพิธีการลอยพระประทีป เดือนสิบสอง

 ครับเรามาทราบถึงพระราชพิธีลอยพระประทีปในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กันต่อเลยน่ะครับ
หน้าที่ ๒๗ ถึงหน้าที่ ๒๙

  การลอยพระประทีปเปนเวลาที่เสด็จออกนอกกำแพงพระราช
วัง แลกำแพงพระนครเวลากลางคืน จึงได้จัดการป้องกันรักษา
แขงแรง การที่จัดทั้งปวงนี้ก็เปนธรรมเนียมเดิม ในเวลาที่
บ้านเมืองไม่ปรกติเรียบร้อย แลจะให้เปนการครึกครื้นในแม่น้ำ
ถ้าจะว่าตามอย่างโบราณที่เปนการเสด็จพระราชดำเนินประพาศลำ
น้ำก็เปนการสมควรกันอยู่ ด้วยเรือที่ทอดทุ่นรักษาราชการนั้นก็
เปนเรือในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทั้งสิ้น แต่ถ้าจะเทียบกับ
การชั้นหลังในประจุบันนี้ ที่เสด็จไปวังเจ้านายในเวลากลางคืน ฤา
เสด็จลงทอดพระเนตรโคมในเวลาเฉลิมพระชนม์พรระษา การป้อง
กันรักษาน้อยกว่าลอยประทีปมากหลายเท่า ก็เปนไปตามเวลาที่
บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป แต่การลอยประทีปนี้ยังคงอยู่ตามแบบ
เดิมเหมือนอย่างเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน แล
เสด็จประพาศตามธรรมเนียมฉนั้น ที่แพลอยน่าท่าราชวรดิฐมีเรือ
บันลังก์สองลำจอดขนานกัน ในเรือบัลลังก์นั้นแต่เดิมลำในกั้นม่าน
เปนที่พระบรรธม,ที่สรง,ที่ลงพระบังคน ดูเหมือนว่าจะเปนที่ประทับ
อยู่นาน ๆ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก เครื่องที่สำหรับตั้งนั้นก็มีพระ
สุพรรณราช แลมีขันพระสุธารสอย่างเช่นเสวยพระกระยาหาร
การป้องกันรักษาห้ามเรือที่ไม่ไห้เดินในทุ่นตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก
เวลาเสด็จขึ้น ดูเหมือนว่าในครั้งใดครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จ
ลงไปประทับอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนสิ้นเวลาลอยพระประทีป สรงเสวย
ในนั้น แต่ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารับสั่ง
ให้เลิกที่สรงที่พระบรรธม คงแต่เครื่องพระสุธารศซึ่งเจ้าพนัก
งานยังจัดอยู่ตามเคย ในเรือบัลลังก์ทั้งสองลำนั้นกั้นม่านสกัดทั้ง
หัวเรือท้ายเรือ ข้างหัวเรื่อท้ายเรือเปนข้างน่า ที่ตรงม่านสกัด
หัวเรือท้ายเรือมีม่านยืดออกไปในน้ำ ยังมิให้เจ้าพนักงานที่อยู่
หัวเรือท้ายเรือแลเห็นเข้ามาข้างใน ต่อมาเมื่อเวลาจะปล่อยเรือ
กระทงจึงชักม่าน ข้างเหนือมีม่านท่องสกัดเสมอแนวพนักข้าง
ในอีกชั้นหนึ่งเพราะใกล้ที่ประทับ ในระหว่างม่านนั้นเปนที่สำหรับ
ท้าวนางเถ้าแก่ประจำคอยรับเรือกระทง ข้างใต้เปนที่สำหรับเจ้า
คุณท้าวนางเถ้าแก่ฤาเจ้านายซึ่งไม่ต้องจุดกระทงเฝ้าในเรือบัลลังก์
ลำนอก เรือบัลลังก์ลำในเปนที่พนักงานนั่งนอกพนัก ในพนัก
เปนที่เจ้าจอมอยู่งาน ส่วนในเรือบัลลังก์ลำนอกนั้นทอด
พระยี่ภู่ตั้งพระแสงเปนที่ประทับ มีเจ้าจอมอยู่งานเฝ้าอยู่ในนั้น
เฉภาะที่เชิญเครื่อง กับพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ ชานเรือบันลังก์
ลำนอกตรงช่องพนักทอดที่ประทับเปนที่ทรงจุดกระทง ต่อนั้นไป
เปนที่เจ้านายแลเจ้าจอมจุดกระทง

  คงยังมีรายละเอียดอีกมากจะนำมาเสนอต่อไปน่ะครับ

พระราชพิธีการลอยพระประทีป เดือนสิบสอง

การลอยพระประทีปในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนต่อมามีดังนี้
หน้าที่ ๒๗ ถึง หน้าที่ ๒๙

      การเก่ายกไว้ จะขอว่าแต่ที่กรุงเทพ ฯ นี้ การลอยประทีป
ในเดือน ๑๒ เปนการใหญ่กว่าลอยประทีปในเดือน ๑๑ ด้วยอากาศ
ปราศจากฝน แลการพระราชกุศลก็เปนการกลางวันมากกว่า
กลางคืน นับว่าเปนเวลาว่างกว่าเดือน ๑๑ ที่ในพระบรมมหา
ราชวังน่าวัดพระศรีรัตรสาศดาราม มีดอกไม้พุมบูชา ๑๐ พุ่ม
แต่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุด ชาวที่นำเทียนชนวนมา
ถวายทรงจุดในเวลาทรงธรรมกลางคืน แต่ส่วนซึ่งบูชาหอพระใน
พระบรมมหาราชวัง ปักพุ่มดอกไม่ย่อม ๆ ที่ชลาที่ทรงบาตรข้าง
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จพระราชดำเนินทรงจุดดอกไม้ก่อน
ที่จะออกทรงธรรม มีแตรสังข์พิณพาทย์ผู้หญิงประโคมด้วย

   วันนี้ขออนุญาตินำเสนอสั้น ๆ เพราะ ง่วงนอนมากเลยครับ เพราะมีนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ต้องทำหลายหน้าที่ และนอนน้อยด้วยกังวล ก็ขออนุญาติน่ะครับ

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: การลอยพระประทีป ( พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุล...

MUSEUM BENJAPON: การลอยพระประทีป ( พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุล...: " ที่จริงวันนี้ก็ล่วงเลยวันลอยกระทงมาหลายวันแล้วแต่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีลอยพระประทีปนำไปใช้ประโยชน์อีกมากมายจึงอัญเชิญพระราชนิพนธ์เรื..."

MUSEUM BENJAPON: การลอยพระประทีป ( พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุล...

MUSEUM BENJAPON: การลอยพระประทีป ( พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุล...: " ที่จริงวันนี้ก็ล่วงเลยวันลอยกระทงมาหลายวันแล้วแต่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีลอยพระประทีปนำไปใช้ประโยชน์อีกมากมายจึงอัญเชิญพระราชนิพนธ์เรื..."

การลอยพระประทีป ( พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีสิบสองเดือนป

    ที่จริงวันนี้ก็ล่วงเลยวันลอยกระทงมาหลายวันแล้วแต่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีลอยพระประทีปนำไปใช้ประโยชน์อีกมากมายจึงอัญเชิญพระราชนิพนธ์เรื่องนี้มาให้ท่านผู้สนใจได้ทราบ ซึ่งข้อนข้างยาวคงจะมีหลาย ๆ ตอนอยู่ ขอเชิญท่านผู้สนใจติดตามดังนี้ครับ
หน้าที่ ๒๕ ถึงหน้าที่ ๒๗

                            การลอยพระประทีป
  การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เปนนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริง
ทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉภาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเปน
พระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์พิธีพราหมณ์อัน
ใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่า
ตรงกับคำที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับว่าเปน
ราชประเพณี ซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระ
นครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมณเฑียรบาลซึ่งได้ยกมา
อ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่าพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ
ไป มีความต่อไปว่า " ตั้งระทาดอกไม้ ในพระเมรุ ๔ ระทา หน้ง
๒ โรง" การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรี
รัตนสาศดาราม แลที่ชลาทรงบาตรบูชาหอพระในพระบรมมหา
ราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยประทีป การลอยประทีปที่ว่า
ในกฎหมายนี้มีเนื้อความเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬา
ลักษณ์ซึ่งเปนท้าวพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราชคือ
พระร่วง ซ฿งพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองศุโข
ไทย ได้กล่าวไว้ว่าในเวลาฤดูเดือนสิบสอง เปนเวลาเสด็จลง
ประพาศในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอรรคมเหษี
แลพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการ
นักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในเม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนาง
นพมาศได้เข้ามารับราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้า
แผ่นดิน เปนรูปดอกบัวแลรูปต่าง ๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล
แลคิดคำขับร้องขึ้นถวายพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริห์จัดเรือ
พระที่นั่ง เทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง สำหรับพระสนมฝ่านใน
จะได้ตามเสด็จประพาศได้มาก ๆ ขึ้นกว่าแต่ก่อน และพระสนมที่
ตามเสด็จประพาศในการพระราชพิธีนั้น ย่อมตกแต่งประดับประดา
กายเปนอันมาก เมื่อพระสนมทั้งปวงได้ตามเสด็จด้วยกันโดยมาก
ดังนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องพระราชทานเครื่องวัตถาอาภรณ์ต่าง ๆ
ทั่วไปเปนที่ชื่นชมยินดีทั่วกัน มีข้อความพิศดารยืดยาว เนื้อ
ความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคำขุนหลวงหาวัด ซึ่งได้
กล่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า ฤาเปนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐนั้น
เอง เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ทรงพระภูษาขาว เครื่องราชอาภรณ์
ล้วนแต่ทำด้วยเงิน แล้วล่องลงไปตามลำน้ำ มีจุดดอกไม้เพลิงที่
น่าพระอารามต่าง ๆ ข้อความยืดยาวอีกแต่ไม่รับประกันว่าฉบับที่ดี
พิมพ์ไว้นั้นเปนความจริงทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าได้อ่านฉบับเดิมนั้น
ช้านานมาแล้ว จะถูกต้องหันฤาไม่ถูกต้องไม่ได่ตรวจตราลเอียด
แต่ข้อความก็ลงเปนรอยเดียวกันกับที่มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลได้
ความว่า ในฤดูเดือนสิบสองเปนเวลาที่น้ำในแม่น้ำใสสอาดแล
มากเต็มฝั่ง ทั้งเปนเวลาที่สิ้นฤดูฝน ในกลางเดือนนั้นพระจันทร์
ก็มีแสงสว่างผ่องใส เปนสมัยที่สมครวรจะรื่นเริงในลำน้ำในเวลา
กลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จลงประพาศตามลำน้ำพร้อม
ด้วยพระราชบริพารฝ่ายใน เปนประเพณีมีมาแต่กรุงศุโขไทยฝ่าย
เหนือโน้นแล้ว

         ครับจากในพระราชนิพนธ์นี้ยังคงมีต่ออีกถึงหน้าที่ ๔๒ ซึ่งผมจะอัญเชิญมาเปนตอน ๆไป น่ะครับ.

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

   ในวันที่ ๕ ธันวาคม ที่ผ่านมาเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งทรงเป็นพระนันดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทรและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ณ.รัฐแมสสะชูเสตล์ส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๘๓ ปีล่วงมาแล้ว ทรงเฉลิมพระเกียรติยศอย่างเป็นทางการเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเศกวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ทรงเสด็จพระทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณฝ่ายตะวันตก พระราชครูวามเทพมุนี กล่าวพระเวทสรรเสริญเบิกศิวาลัยไกรลาส เชิญพระสุพรรณบัฎ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัติยราชวราภรณ์ เครื่องขัติยราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลเป็นภาษามคธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการสุรสิงหนาประถมธรรมิกราชวาจาพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนเป็นภาษาไทยว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" 
     ซึ่งตั้งแต่เวลานั้นจนถึงวันนี้ทรงพระราชกรณียกิจอันมากมายนานับประการเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงพระราชทานแก่พระสกนิกรชาวไทยและผู้ที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารตลอดมา ขอทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน

    ก่อนอื่นต้องขอสูมาท่านที่ติดตามด้วยครับเนื่องจากเครื่องผมเป็นโน๊ตบุ๊ค ทำให้มีข้อจำกัด ทำให้เกิดอาการป่วยต้องส่งเข้าโรงซ่อมเสียหลายวัน ก็เลยไม่สามารถนำเสนออย่างต่อเนื่องตอนนี้ซ่อมสุขภาพแล้วหวังว่าคงจะไม่ป่วยอีกในเร็ววันก็จะนำเสนอเรื่องราว ต่อเนื่องไปครับ

   นี้ก็ใกล้วันคล้ายวันสิ้นคล้ายวันพระชนม์ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในวันที่ ๙ ธันวาคม นี้ ซึ่งจะมีงานที่พระตำหนัก ดาราภิรมณ์ ทุกปี หลายปีก่อนผมได้รับการ์ดเชิญ หรือหนังสือเชิญร่วมงานเสมอ แต่ปีนี้หายเงียบสงสัยไม่มีเกียรติพอที่เขาจะเชิญ เลยไม่รู้ว่าทางพระตำหนัก ฯ จะจัดอะไรอย่างไร จะได้ไปร่วมงานถูก สงสัยกลายเป็นคนตกหล่นเสียแล้ว ใครที่อ่านบทความผมทราบรายละเอียด ช่วยกรุณาแจ้งให้ผมทราบที ที่ ๐๘๙ ๕๕๕ ๐๐๘๙ ครับ เพราะถึงเขาไม่เชิญมา แต่อย่างใดก็จะไปถวายสักการะ เพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน ที่มีคุณูปการณ์ต่อแผ่นดินล้านนา ครับ 

  เอาล่ะครับบ่นเป็นตาแก่เสียหลายบรรทัดมาต่อในพระราชนิพนธ์เรื่อพระราชพิธีสิบสองเดือนดีกว่าน่ะครับ
หน้าที่ ๒๓ ถึงหน้าที่ ๒๔

  คำตักเตือนในการฉลองไตรนี้ เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำพระสงฆ์
ที่สวดมนต์ถึง ๕๐๐ เศษฤา ๖๐๐ รูป เทียนซึ่งถวายพระสงฆ์ใน
เวลาสวดมนต์นั้นมาก มหาดเล็กควรจะต้องคอยรับ แลเวลา
ที่พระเจ้าลูกเธอจะไปถวายควรต้องคอยยกตาม อย่าให้ต้องรั้งรอ
กับเนิ่นช้า
  อนึ่งจะต้องเตือนอย่างจืด ๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเวลาพระ
สงฆ์ฉันแล้วจำจะต้องยถา จำจะต้องทรงพระเต้าษิโณทก ไม่
มีเหตุการอันใดที่จะยกเว้นพระเต้าษิโณทกได้เลยในเวลาพระสงฆ์
ฉันแล้ว ซึ่งมหาดเล็กบางคนทำอึก ๆ อัก ๆ ไม่แน่ใจว่าจะทรง
ฤาไม่ทรง ฤาทอดธุระเสียว่าไม่ทรงนั้นเปนการเซอะแท้ ไม่มีข้อ
ทุ่มเถียงอย่างไรเลย
   อนึ่งในเวลาเมื่อสวดมนต์จบแลเวลาเลี้ยงพระแล้ว มีเสด็จ
ออกขุนนางข้าราชการเฝ้าทูลใบบอกแลข้อราชการต่าง ๆ ได้เหมือน
ออกขุนนางตามเคย
   อนึ่งในเวลาค่ำที่ทรงธรรมนั้น พอเสด็จออกมหาดเล็กก็ต้อง
นำเทียนชนวนเข้าไปตั้ง ทรงจุดเรื่องบูชาเทวดาแล้วต้องคอยรับ
เทียนที่บูชาพระมหาเสวตฉัตร ซึ่งจะปล่อยให้ทรงจุดทรงวางใน
ตะบะอย่างเช่นมหาดเล็กเคยทำมาบ่อย ๆ นั้นไม่ถูก เมื่อรับเทียน
นั้นไปแล้วเคยไปติดที่บัวหลังพระมหาเสวตรฉัตร ซึ่งไม่เห็นมหาด
เล็กไปติดมาช้านานแล้ว จำไม่มีใครรู้ฤาประการใดสงไสยอยู่ เมื่อ
ทรงจุดเทียนเทวดาแล้วทรงจุดเทียนดูหนังสือ ไม่ต้องรอคอยจน
ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วจึงยกไปให้เปนการช้ายืดยาว พอ
ทรงจุดแล้วก็ยกไป ถ้าธรรมมาศน์กว้างตั้งบนธรรมมาศน์ทั้งเชิง ถ้า
ธรรมมาศน์แคบมีจงกล ถอนเทียนออกปักที่จงกล ถ้าธรรมมาศน์
แคบมีม้าตั้งข้าง ๆ ให้ตั้งบนม้า การที่ถอนเทียนออกติดกับกง
ธรรมมาศน์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ได้
กริ้วมาหลายครั้งแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็มีราย ๆ อยู่บ้างไม่สู้หนานัก
ขอให้เข้าใจว่าไม่โปรดเหมือนกัน ฯ

    ในพระราชนิพนธ์ตอนนี้เราจะได้ทราบถึงรายละเอียดพระราชพิธี แลการปฏิบัติของเจ้าพนักงานซึ่งยังมีข้อบกพร่องและพระองค์ทรงตักเตือน และทรงพระราชทานความคิดเห็นของความไม่เหมาะสมต่าง ๆ ด้วยความพระราชสนพระทัย ให้พิธีกรรมถูกต้องตามพระราชพิธี อย่างละเอียดถี่ถ้วย.

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การพระราชกุศลฉลองไตรปี เดือนสิบสอง

    ต้องขอโทษที่ผมไม่ได้ลงต่อเนื่องเพราะไปธุระกับคุณแม่ที่กรุงเทพฯ และพาท่านไปเยี่ยมเยียนญาติวันนี้กลับมาแล้วครับจึงขอโอกาสอัญเชิญพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ดังนี้
หน้าที่ ๒๑ ถึงหน้าที่ ๒๓
                                                              ทั้งในกรุงหัวเมือง
ยกเสียแต่หัวเมืองไกล ถ้าการสวดมนต์ฉลองไตรนี้ทำที่หมู่พระ
ที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระสงฆ์ไทยสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทร
วินิจฉัยทั้งสิ้น พระสงฆ์รามัญสวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิตดาภิรมย์ ถ้า
ทำข้างพระที่นั่งฝ่ายบูรพทิศ พระสงฆ์ไทยคณะมหานิกายสวดมนต์
ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คณะธรรมยุติกนิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่ง
ประพาศพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปนที่ตั้งพระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาทใน
ประจุบันนี้ แต่ครั้นเมื่อภายหลังรื้อพระที่นั่งประพาศพิพิธภัณฑ์ทำ
ใหม่ ก็ยกมาสวดมนต์รวมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมทั้ง ๒ คณะ
แต่คณะรามัญนั้นคงสวดอยู่ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ การสวดมนต์
มีแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำวันเดียว ต่อนั้นไปแบ่งพระสงฆ์ออกเปนสาม
ส่วน มาฉันในท้องพระโรงวันละส่วน เข้าบิณฑบาตในพระบรม
มหาราชวังวันละ ๒ ส่วน เปลี่ยนกันไปตลอดทั้ง  ๓ วัน คือใน
วันขึ้น ๑๔ ค่ำขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรมค่ำ ๑ การทรงบาตรในพระบรม
มหาราชวังจัดอย่างนักขัตฤหษ์ คือมีผ้าลาดตามทางที่พระสงฆ์
เดิน และมีเครื่อนมัสการพานทองน้อยเครื่องห้าตั้งที่ทรงบาตร
มีของปากบาตรทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมข้างในแต่งตัวตักบาตรฉลองไตร
นี้ ห่มผ้าห่มนอนตาดแลเยียรบับแพรเขียนทองฤาแต่งตัวต่างๆ
ไปอิกก็มีเปนคราว ๆ แต่ไม่เปนการเสมอไป ในวันขึ้น ๑๔
ค่ำ ๑๕ ค่ำแรมค่ำ ๑ เวลากลางคืนมีทรงธรรม พระราชคณะผู้
ใหญ่ถวายเทศนากฐินทาน อนุโมทนาการพระราชกุศลที่ได้เสด็จ
ไปพระราชทานพระกฐินกัณฑ์ ๑ จีวรทาน อนุโมทนาพระราชกุศล
ที่ได้พระราชชทานไตรปีแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงกัณฑ์ ๑ ปฎิสังขรณ
ทานอนุโมทนาที่ได้ทรงปฎิสังขรณ์พระอารามทั้งปวงกัณฑ์ ๑
เครื่องกัณฑ์เทศทั้ง ๓ กัณฑ์ นับในจำนวนเทศนา ๓๐ กัณฑ์ซึ่ง
เปนจำนวนการพระราชกุศลประจำปี คือมีเครื่องกัณฑ์คล้าย ๆ
บริขารพระกฐิน คือมีตะบะยาเปนต้น มีเงินติดเทียน ๑๐ ตำลึง
แลขนมต่าง ๆ ที่เกณฑ์พระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายในเปนเจ้าของกัณฑ์
          การฉลองไตรนี้ ในรัชกาลก่อน ๆ ก็สวดมนต์เลี้ยงพระแล
เทศนาที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตลอดมา ครั้นแผ่นดินพระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ย้ายสวดมนต์เลี้ยงพระไป
พระที่นั่งฝ่ายบูรพทิศ แต่ยังคงมาทรงธรรมที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจ
ฉัย เพราะเปนทางที่จะได้เสด็จลงทรงลอยพระประทีปในเวลาเมื่อ
ทรงธรรมแล้ว ในประจุบันนั้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าพระที่นั่งอนันต
สมาคมเปนที่กว้างขวาง ใหญ่กว่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จึง
โปรดให้การฉลองไตรทั้งปวงคงอยู่เหมือนแผ่นดินพระบาทสม-
เด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ในพระราชนิพนธ์ตอนนี้ ทรงพระราชทานรายละเอียดในการจักการพระราชกุศลฉลองไตรปีนี้อย่างละเอียดทั้งวัน เวลา และสถานที่ ของพระราชทาน และแม้กระทั่งการแต่งกายของเจ้าจอมทั้งในรัชการก่อนถึงรัชการของพระองค์ท่าน ถ้าหากท่านผู้สนใจอ่านอย่างละเอียดจะได้ประโยชน์อีกมากมายและที่ทรงกล่าวถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นเป็นที่นั่งองค์เดิมในพระบรมมหาราชวังตามที่เคยนำเสนอไปแล้วครับ ครั้งต่อไปจะเปนความที่ละเอียดยิ่งกว่าเดิมโปรดติดตามน่ะครับ.

          

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การพระราชกุศลฉลองไตรปี เดือนสิบสอง

     พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนนี้ เดือนสิบสองยังมีพระราชพิธีอีกหลายพระราชพิธีซึ่งผมจะอัญเชิญมาเสนอจึงค่อนข้างจะยาวดังนี้
หน้าที่ ๒๐ ถึงหน้าที่ ๒๑

         การฉลองไตรนี้ ไม่ปรากฎว่าเปนธรรมเนียมมีมาแต่ครั้ง
กรุงเก่าฤาประการใด แต่เปนธรรมเนียมมีมาในกรุงรัตนโกสินทร
นี้แต่เดิม ไม่นับว่าเปนพระราชพิธี เปนการพระราชกุศลประจำปี
ซึ่งนำมากล่าวในที่นี้ด้วย เพราะเหตุว่าการฉลองไตรนี้เนื่องอยู่
ในพระราชพิธีจองเปรียง แลลอยพระประทีป ความประสงค์ของ
การฉลองไตรนั้น คือว่าพระสงฆ์ซึ่งได้รับยศเปนราชาคณะถานา
นุกรมปเรียญพิธีธรรมบางองค์ ฤาคิลานภัตร พระทรงรู้จัก พระ
ช่าง สามเณรปเรียญ แลพระบรมวงษานุวงษ์ที่ทรงผนวชเปนภิกษุ
ก็ดีสามเณรก็ดีเกินกว่าพรรษาหนึ่งขึ้นไป ท่านทั้งปวงนี้ได้พระราช
ทานไตรจีวรสำรับหนึ่ง ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทาน
พระกฐินทุกปี มิใช่เกี่ยวในการกฐิน พระสงฆ์แลสามเณรทั้งปวง
เหล่านี้มีจำนวนทั้งในกรุงแลหัวเมืองปีหนึ่งอยู่ใน ๕๐๐ เศษขึ้นไปถึง
๖๐๐ รูป ทั้งที่ได้รับกฐินหลวงด้วย เมื่อผ้าไตรที่ได้พระราชทาน
ไปแก่พระสงฆ์เปนอันมากดังนี้ ก็ควรจะเปนที่ชื่นชมยินดีในการ
พระราชกุศลที่ได้ทรงบริจาคไปเปนอันมากนั้น จึงได้มีการพระราช
กุศลขึ้นในกลางเดือนนั้นกำหนดวันขึ้น ๑๑ ค่ำให้นิมนต์พระราชา
คณะถานานุกรมปเรียญทั้งปวง บรรดาซึ่งได้รับพระราชทานไตร
ปีมาประชุมพร้อมกันในพระบรมมหาราชวัง ทั้งในกรุงหัวเมือง
ยกแต่หัวเมืองไกล ถ้าการสวดมาต์ที่พระที่นั่งอมรินทร
วินิจฉัยทั้งสิ้น

        คงยังมีต่ออีกผมจะได้นำมาเสนอในครั้งต่อไปครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คุณยายเล่าให้ฟัง

   เมื่อวานผมขับรถจากเชียงใหม่เพื่อจะไปกรุงเทพฯกับคุณแม่ วันนี้เราออกจากเชียงใหม่มาสายขับมาถึงบ้านตากคุณแม่ก็พูดถึงเมืองแหงซึ่งเป็นบ้านของญาติทางฝ่ายคุณยาย คุณยายเคยเล่าให้ฟังว่าบ้านของญาติพี่น้อง จะอยู่ติดริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก เป็นเรือนไม้ซึ่งบ้านเรามักเรียกว่าเฮือนแป คือเรือนไม้ชั้นเดียวและชั้นครึ่งที่ด้านหน้ามีบานประตูพับ (บานเสี้ยม) เปิดออกและพับได้ด้านหน้าจะติดกับถนนด้านหลังติดแม่น้ำปิงซึ่งในสมัยก่อนด้านหลังเป็นด้านหน้าโดยบ้านแบ่งเป็นสามตอน ด้านหน้ามักเป็นหน้าร้านเปิดขายของ ส่วนกลางจะเป็นครัวและที่กินข้าว ด้านหลังจะเป็นโถงโล่งสำหรับเก็บและขนถ่ายสินค้าจากเรือหางแมงป่อง ซึ่งจะเทียบท่าด้านหลังบ้านที่ทำยื่นออกไปในแม่นำปิง บางครั้งก็จะใช้เป็นที่ซักผ้าอีกด้วย ระหว่างเรือนด้านหน้าและเรือนอีกสองหลังจะมีชานไม้ต่อเชื่อมระหว่างกันโดยตลอดเป็นที่วางโอ่งน้ำและปลูกต้นไม้กระถาง ส่วนหลังข้างหน้าจะมีบันไดขึ้นบนชั้นสองซึ่งจะมีห้องนอนของคุณทวด และหอพระและหอบรรพบุรุษ อยู่ส่วนหน้าของเรือนที่แยกออกต่างหาก ส่วนห้องนอนลูก ๆจะอยู่ด้านล่างห้องหลังของเรือนซึ่งด้านหน้าเป็นร้านค้า บ้านของคุณทวดพ่อคุณยายจะนำผ้าแพรพรรณมาจากทางกรุงเทพฯ เมื่อคิดถึงคำคุณยายเล่าผมก็ถามคุณแม่ว่าเคยมาบ้านญาติแถวเมืองแหงนีไหมคุณแม่ก็พยักหน้าบอกเคยมาเมื่อตอนเล็น ๆนานมาแล้ว นั่งเรือมาขึ้นที่ท่าหลงบ้านของญาติ ติดริมแม่น้ำปิง ผมจึงลองเลี้ยงรถเข้าไปตามถนนเลียบริมแม่นำปิงที่จังหวัดตาก ก็ได้เห็นบ้านผู้คนริมแม่น้ำปิงที่ยังคงเค้าสภาพเดิมอยู่บ้างถามคุณแม่ว่าจำได้ไหมคุณแม่ตอบว่าจำไม่ได้แล้วลูกเพราะนานมาแล้วแต่ก็มีลักษณะคล้าย ๆที่เห็นอยู่นี้ ส่วนด้านตรงกันข้ามที่ไม่ติดน้ำปิงก็จะเป็นบ้านทรงไทยภาคกลางหลงเหลือซึ่งส่วนมากก็ทรุดโทรมลงไปมากแล้ว หลายหลัง ได้ลองพูดคุยกัยคนแก่ที่แถวนั้น ก็จะตรงกับที่คุณยายเล่าให้ฟังว่าเป็นเขาพูดภาษาภาคกลางผสมภาคเหนือสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ถึงปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากหลักฐานบ้านเรือน ก็ทำให้สามารถยืนยันได้ว่าชาวเมืองแหงนี้เป็นคนไทยภาคกลางที่ได้อพยพทำมาค้าขายตามริมแม่น้ำปิงจากอยุธยามาอยู่อาศัยยังเมืองแหงและค้าขายขึ้นไปจนส่วนหนึ่งไปอยู่ที่เวียงป่าซางและไปอยู่แถวย่านวัดเกตของเชียงใหม่ในที่สุด ซึ่งยังคงเป็นญาติเครือกันแต่เนื่องด้วยลูกหลานไม่ได้ติดต่อกันจึงขาดหายกันไปจนไม่สามารถสืบต่อญาตินอกจากประวัติที่รวบรวมและเล่าต่อกันมาในสายญาติและสิ่งของเครื่องใช้ แม้แต่พระพุทธรูปบูชาที่ได้รับสืบทอดกันมาซึ่งเป็นจารีตของคนภาคกลางที่บุชาพระพุทธรูปซึ่งคนภาคเหนือในแผ่นดินล้านนาในอดีตจะไม่นำพระพุทธรูปบูชาบนบ้านและรับส่วนนี้มากจากภาคกลางซึงหน้าจะมาจากการอพยพค้าขายของกล่มชนภาคกลางที่ขึ้นมาไม่เกินกว่าสองร้อยปีนี้เอง ซึ่งแม้แต่คุณยายผมเองก็ยังทำอาหารไทยภาคกลาง และพูดภาษากลางที่ผสมกับคำเหนือบ้างเล็กน้อย ซึ่งคงเป็นภาษาของชาวเมืองแหง จนท่านเสียชีวิตไปในปี ๒๕๓๘ นี้เอง.

MUSEUM BENJAPON: พิธีกะติเกยา เดือนสิบสอง

MUSEUM BENJAPON: พิธีกะติเกยา เดือนสิบสอง: " ในเดือนสิบสอง ยังมีพระราชพิธีอีกหลายพระราชพิธีที่มีมาแต่รัชกาลก่อนในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผมจะอัญเชิญม..."

พิธีกะติเกยา เดือนสิบสอง

   ในเดือนสิบสอง ยังมีพระราชพิธีอีกหลายพระราชพิธีที่มีมาแต่รัชกาลก่อนในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผมจะอัญเชิญมาดังนี้
หน้าที่ ๑๗ ถึงหน้าที่ ๑๙

     การพระราชพิธีกะติเกยา ตามคำพระมหาราชครูพิธี ได้
กล่าวว่า การพระราชพิธีนี้แต่ก่อนได้ทำในเดือนอ้าย แต่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนมาทำในเดือน
สิบสอง การซึ่งจะกำหนดทำพระราชพิธีเมื่อใดนั้น เปนพนักงาน
ของโหรต้องเขียนฎีกาถวาย ในฎีกานั้นว่าโหรมีชื่อได้คำณวนพระ
ฤกษ์ พิธีกะติเกยากำหนดวันนั้น ๆ พระมหาราชครูจะได้ทำ
พระราชพิธีนั้น ๆ ลงท้ายท้าว่าจะมีคำทำนาย แต่ไม่ปรากฏ
ว่าได้นำคำทำนายขึ้นมากราบเพ็ดกราบทูลอันใดต่อไปอีก ชรอย
จะเปนด้วยทำนายดีทุกปีจนทรงจำได้ แล้วรับสั่งห้ามเสีย ไม่ให้
ต้องกราบทูลแต่ครั้งใดมาไม่ทราบเลย การซึ่งพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนพิธีมาทำในเดือนสิบสองนั้น
คือกำหนดเมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์กฤติกาเต็มบริบูรณ์เวลาไร เวลา
นั้นเปนกำหนดพระราชพิธี การซึ่งทรงกำหนดเช่นนี้ก็จะแปลมาจาก
ชื่อพิธีนั้นเอง การที่พระมหาราชครูพิธีว่าเมื่อก่อนทำเดือนอ้านนั้น
เปนการเลื่อนลงมาเสียดอก แต่เดิมมาก็ทำเดือนสิบสอง ครั้น
เมื่อพิธีตรียัมพวายเลื่อนไปทำเดือนยี่แล้ว การพิธีนี้จึงเลื่อนตาม
ลงไปเดือนอ้าย เพราะพิธีนี้เปนพิธีตามเพลิงคอยรับพระเปนเจ้าจะ
เสด็จลงมา ดูเปนพิธีนำน่าพิธีตรียัมพวาย ที่พระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับขึ้นไปทำเดือนสิบสองนั้นก็
เพราะจะให้ถูกกับชื่อพิธีดังที่ว่ามาแล้ว พระราชพิธีนีคงตกอยู่
ในระหว่างกลางเดือนสิบสอง เคลื่อนไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้าง
เล็กน้อย คงจะเกี่ยวกับพระราชพิธีจองเปรียงอยู่เสมอ การที่
ทำนั้นคือปลูกเกยขึ้นที่น่าเทวสถานสามเกย สถานพระอิศวรเกย ๑
สถานมหาวิฆเนศวรเกย ๑ สถานพระนารายน์เกย ๑ เกยสูง ๔
ศอกเท่ากัน ที่ข้างเกยเอามูลโคกับดินผสมกันก่อเปนเขาสูงศอก
หนึ่งทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่าบัพพโต แล้วเอาหม้อใหม่ ๓ ใบถักเชือก
รอบนอกเรียกว่าบาตรแก้ว มีหลอดเหล็กวิลาดร้อยไส้ด้ายดิบ
เก้าเส้น แล้วมีถุงเข้าเปลือกถั่วงาทิ้งลงไว้ในหม้อนั้นทั้ง ๓ หม้อ
แล้วเอาไม้ยาว ๔ ศอกเรียกว่าไม้เทพทณฑ์ปลายพันผ้าสำหรับชุบ
น้ำมันจุดไฟ ครั้นเวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีบูชาไม้เทพทณฑ์แล
บาตรแก้ว แล้วอ่านตำหรับจุดไฟในบาตรแก้ว แล้วรดน้ำสังข์
จุณเจิมไม้นั้น ครั้นจบวิธีแล้วจึงได้นำบาตรแลไม้เทพทณฑ์
ออกไปที่น่าเทวสถาน เอาบาตรแก้วตั้งบนหลักริมเกย เอาปลาย
ไม้เทพทณฑ์ที่หุ้มผ้าชุบน้ำมันจุดไฟพุ่งไปที่บัพพโตทั้ง ๔ ทิศ เปน
การเสี่ยงทาย ทิศบูรพาสมมุติว่าเปนพระเจ้าแผ่นดิน ทิศทักษิณ
สมมุติว่าเปนสมณะพราหมณ์ ทิศประจิมว่าเปนอำมาตย์มนตรี
ทิศอุดรว่าเปนราษฏร พุ่งเกยที่หนึ่งแล้วเกยที่สองที่สามต่อไป
จนครบทั้งสามเกยเปนไม้สิบสองอัน แล้วตามเพลิงในบาตรแก้วไว้
อิกสามคืน สมมุติว่าตามเพลิงคอยรับพระเปนเจ้าจะเสด็จลงมา
เยี่ยมโลกย์ เมื่อพุ่งไม้แล้วกลับเข้ามาสวดบูชาเข้าตอกบูชาบาตร
แก้วที่จุดไฟไว้น่าเทวสถานทั้ง ๓ สถาน ต่อนั้นไปอีกสองวันก็ไม่
มีพิธีอันใด วันที่สามนำบาตรแก้วเข้าไปในเทวสถาน รดน้ำ
สังข์ดับเพลิงเปนเสร็จการพระราชพิธี
       การพระราชพิธีกะติเกยานี้ เปนพิธีพราหมณ์แท้ แลเหตุผล
ก็เลื่อนลอยมาก จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่รู้ที่จะ
ทรงเติมการพิธีสงฆ์ฤาแก้ไขเพิ่มเติมอันใดได้ แต่เปลี่ยนกำหนด
ให้ถูกชื่ออย่างเดียว คงอยู่ด้วยเปนพิธีราคาถูกเพียง ๖ บาท
เท่านั้น ฯ
    
      ตามในพระราชนิพนธ์นี้เปนพิธีพราหมณ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงขั้นตอนในการทำพิธีและของที่โดยละเอียด ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผู้นำเสนอหน้าจะเปนความเชื่อในการบูชาที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่อพระอัคคีที่เป็นสื่อระหว่างมนุษย์กับเทพพระเจ้าทั้งสามถ้าหากได้ทราบถึงข้อความในการอ่าน"ตำหรับ" ของพระมหาราชครู ซึ่งถ้าหากท่านผู้ใดทราบข้อความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยเพื่อเปนวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจ และมีความชัดเจนในพิธีนี้มากขึ้น เพราะในพิธีพราหมณ์ยังมีพิธีเกี่ยวกับไฟอีกมากเช่นพิธีโหมกูณ เป็นต้นซึ่งจะนำมาเสนอต่อไปครับ

        

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง: " วันนี้ผมขออนุญาติอัญเชิญพระราชนิพนธ์พระราชพิธีจองเปรียงในเดือนสิบสองมาต่อจนจบเลยน่ะครับเพราะในเดือน ๑๒ ยังมีอีกพระราชพิธีหนึ่ง ครับ หน้..."

พระราชพิธีจองเปรียง

     วันนี้ผมขออนุญาติอัญเชิญพระราชนิพนธ์พระราชพิธีจองเปรียงในเดือนสิบสองมาต่อจนจบเลยน่ะครับเพราะในเดือน ๑๒ ยังมีอีกพระราชพิธีหนึ่ง ครับ
หน้าที่ ๑๔ ถึง หน้าที่ ๑๖ ดังนี้

           การจุดโคมไชยนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จออกทรงจุดเองไม่ใคร่จะขาด แต่ครั้นเมื่อมีเสาโคมทางน่า
พระที่นั่งอนันตสมาคมขึ้น ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยก
โคมทางพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์นี้ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอเสด็จมา
ทรงยกโคมที่น่าพระที่นั่งอนันตสมาคมเอง ตลอดจนโคมบริวาร
ทั้ง ๑๒ ต้นโดยมาก แต่การซึ่งยกโคมนี้ได้ความว่า เมื่อในแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเวลายกโคมยามแรกเปนเวลา
เข้าที่พระบรรธม ไม่ได้เสด็จออกทรงยกโคมเลย ต่อคราวที่ ๒
เวลาเสด็จออกทรงธรรม มหาดเล็กจึงได้นำเทียนถวายทรงจุด
พระราชทานให้กรมพระตำรวจออกเปลี่ยน แต่ในแผ่นดินประจุบันนี้
เสด็จออกบ้างไม่ออกบ้าง ถ้าไม่เสด็จออกพราหมณ์ต้องส่งทาเปรียง
แลเพลิงเข้าไปข้างใน ทรงจุดพระราชทานพระเจ้าลูกเธอออกมา
ยกโคม เหมือนอย่างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
ในเวลาที่ไม่ได้เสด็จออกนั้น แลมีเสาโคมในพระบรมมหาราชวัง
ปักประจำทุกตำหนักเจ้านาย ถ้าเปนตำหนักเจ้าฟ้าใช้เสาไม้แก่น
ทาขาว ฉัตรผ้าขาว ๕ ชั้น โคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวอย่างเดียว
กันกับโคมประเทียบมีครบทุกพระองค์ ถ้าเปนตำหนักพระองค์
เจ้าฤาเรือนข้างในใช้เสาไม้ไผ่ โคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษอย่าง
โคมบริวารมีทั่วทุกตำหนัก แต่โคมทั้งปวงนี้ใช้ตามตะเกียงด้วย
ถ้วยแก้วฤาชามทั้งสิ้น เหมือนโคมบริวารข้างนอก ตามวังเจ้า
นายซึ่งอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พระราชวังบวร ฯ เปน
ต้นลงไปก็มีเสาโคม แต่พระราชวังบวร ฯ เท่านั้น มีโคม
ไชย, โคมประเทียบ, โคมบริวาร, คล้ายในพระบรมมหาราชวัง
วังเจ้าฟ้ามีเสาโคมเหมือนโคมไชยแต่ฉัตร ๕ ชั้น เจ้านายนอก
นั้นตามแต่เจ้าของจะทำ
         ในการพระราชพิธีจองเปรียงนี้ มีน่าที่กรมมหาดเล็กซึ่ง
มักจะลืมฤาไม่รู้สึกบ่อย คือเวลาเย็นพลบพนักงานนำเทียนออก
มาส่ง ลางทีก็ไม่มีใครรับ เวลาจะทรงก็ต้องเรียกกันเวยวาย
อย่างหนึ่ง ฤาถ้ารับเทียนมาแล้ว เวลาจะนำเข้าไปถวายมักจะ
จุดเทียนชนวนเข้าไปถวาย การที่มหาดเล็กทำดังนี้เปนการไม่
ระวังในน่าที่ของตัวแลไม่รู้จักจำ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเสด็จออก
พระราชทานเทียนให้พระเจ้าลูกเธอ ฤาไม่ได้เสด็จออก พระราช
ทายเทียนให้พระเจ้าลูกเธอออกไป ก็เปนน่าที่ของมหาดเล็กที่
จะเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดโคมทุก ๆ เสา แลช่วยชักสาย
ในเวลาที่ทรงชักโคมนั้นด้วย
         ส่วนพนักงานของกรมพระตำรวจนั้น เปนน่าที่เจ้ากรมปลัด
กรมจ่าเจ้าของเวร ต้องมาคอยรับเทียนไปติดในโคมไชยใบแรก
ที่จะทรงชัก เมื่อเวลาทรงชักต้องคอยโรยหางเชือก ฤาถ้าเวลา
ฝนตกลงมาเชือกเปียกชื้นชักฝืด ก็ต้องเข้ามาช่วยสาวเชือกชัก
โคมนั้นด้วยอีกคนหนึ่ง แล้วรับเทียนสำหรับเปลี่ยนโคมแลเทียน
ชนวนไปจุดโคมบริวาร ในการพระราชพิธีจองเปรียงมีการที่สำหรับ
จะไม่เรียบร้อยพร้อมเพรียงอยู่เพียงเท่านี้ ฯ

         ในพระราชนิพนธ์ตอนนี้จะแสดงรายละเอียดในพระราชพิธี และแจ้งข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และทรงตักเตือนให้ทำให้ถูกต้อง ซึ่งถือว่าเป็นพระอัฉริยภาพที่ล้นเกล้ารัชการที่ ๕ ทรงมีและทรงเอาใจใส่ทำให้ชาวประชาเป็นสุขในยุกต์สมัยของพระองค์

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง: " สวัสดีครับวันนี้ผมก็จะอัญเชิญพระราชนิพนธ์พระราชพิธีจองเปรียงในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมา นำเสนอต่อคงจะยาวหน่อยน่ะครับเพราะนี้ก็ล่วงเ..."

พระราชพิธีจองเปรียง

 สวัสดีครับวันนี้ผมก็จะอัญเชิญพระราชนิพนธ์พระราชพิธีจองเปรียงในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมา นำเสนอต่อคงจะยาวหน่อยน่ะครับเพราะนี้ก็ล่วงเลยวันเพ็ญเดือนสิบสองมากลายวันกลัวจะเฝือไปน่ะครับ แต่เนื่องจากยาวมากก็คงต้องแบ่งเป็นอีกสองตอน ดังนี้ครับ
หน้าที่ ๑๒ ถึงหน้าที่ ๑๔

                              ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีเติมขึ้นที่น่าพระที่นั่ง
อนันตสมาคม โคมไชย ๒ ต้น โคมบริวาร ๑๐ ต้น แต่ใช้โคม
แก้วกระจกสีเขียว, สีแดง, สัน้ำเงิน, สีเหลือง, สีขาว, อย่างล่ะคู่ การ
พระราชพิธียกเสาโคมไชยนั้น เมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่พระที่นั่ง
จักรพรรดิพิมาน ก็ทำที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ เมื่อเวลาเสด็จ
ไปประทับอยู่ในพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ ก็ทำที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์
บ้าง ด้วยมีเสาโคมไชยขึ้นในที่นั้น แลเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน
ประพาศตามหัวเมืองมีพระราชวังแห่งใด ก็โปรดให้ยกเสาโคม
ไชยสำหรับพระราชวังนั้น คือที่วังจันทรเกษม วังนารายน์ราช
นิเวศน์ แลพระนครคิรี แลที่วังปฐมเจดีย์ทุกแห่ง เทียน
ซึ่งสำหรับจุดโคมไชยคืนละ ๒๔ เล่ม (ฤามีเสาโคมไชยทางพระ
ที่นั่งอนันตสมาคมก็เปน ๑๒ เล่ม) ฟั่นที่ห้องนมัสการเล่มยาว ๆ พอ
จุดได้ตลอด ๓ ชั่วโมงยังเหลือเศษ ในเวลาสวดมนต์ยกโคมไชย
เจ้าพนักงานนำเทียนนี้ไปเข้าพิธีด้วย แล้วจึงเก็บไว้ถวายวันละ ๒๔
เล่มฤาครบสำรับหนึ่ง เวลาพลบเสด็จพระราชดำเนินออกประทับ
ที่เสาโคมไชย มหาดเล็กนำพานเทียน ๒๔ เล่ม กับเทียนชนวน
ซึ่งเสียบอยู่กับเชิงเล่ม ๑ วางมาในพานเล่ม ๑ ขึ้นถวาย พระมหา
ราชครูพิธีจึงนำตลับเปรียงขึ้นถวาย บ่ายพระภักตร์สู่ทิศศรีของ
วันนั้น แล้วทรงเจิมเทียนทั้งมัดนั้นด้วยเปรียง เปนรูปอุณาโลม
ด้วยคาถา "อรหํ สัมมาสัมพุทโธ " แล้วจึงทรงทาเปรียงทั่วทุก
เล่มเทียน ชักเทียนออกจากมัด ๖ เล่ม พระมหาราชครูจึงจุด
เทียนชนวน ซึ่งมีมาแต่โรงพิธีจากโคมซึ่งตามเพลิงมานั้น
ถวาย ทรงเทียนชนวนซึ่งเสียบมากับเชิงจุดเพลิงจากเทียนชนวน
พราหมณ์ แล้วทรงบริกรรมคาถา "ทิวาตปติอาทิจ์โจ" จนถึง
"มังคลัต์ถํ ปสิท์ธิยา" แล้วจึงทรงจุดเทียน ๖ เล่มนั้น เมื่อติด
ทั่วกันแล้วทรงอธิฐานด้วยคาถา "อรหํ สัม์มาสัม์พุท์โธ" จน
ตลอดแล้วจึงได้พระราชทานเทียนเล่ม ๑ ให้กรมพระตำรวจรับไปปัก
ในโคมไชยต้นที่หนึ่ง ที่เหลือนั้นอีก ๕ เล่ม พระราชทานพระเจ้า
ลูกเธอไปทรงจุดในโคมไชยประเทียบ ในเวลาเมื่อทรงชัก
สายโคมไชย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ฆ้องไชยพิณพาทย์
จนสิ้นเวลาที่ยกโคม มีแต่ยามแรกยามเดียว เมื่อยกโคม
เสร็จแล้วพระราชทานเทียนสำหรับโคมไชยโคมประเทียบ ที่ยัง
เหลืออยู่อีก ๑๘ เล่ม สำหรับไว้เปลี่ยนอีก ๓ ยาม แลเทียน
ชนวนที่เสียบอยู่บนเชิง ให้กรมพระตำรวจรับไปจุดโคมบริวาร เทียน
ชนวนซึ่งเหลืออยู่อีกเล่มหนึ่งนั้น พระราชทานพระมหาราชครูพิธี
สำหรับจะได้นำมาเปนชนวนจุดเพลิงถวาย ในคืนหลัง ๆ ต่อไป

        ในตอนนี้ด้านท้ายมีคำอธิบายว่า "พระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชนิพนธ์นี้หมายว่าองค์แรก สร้างเมื่อรัชกาลที่ ๔ อยู่ตรงหลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว" ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมที่สร้างใหม่ที่ปลายถนนราชดำเนินในพระราชวังสวนดุสิตนั้น สร้างในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๕๐เพื่อใช้เป็นที่ออกมหาสมาคม โดยเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ และนีโอคลาสสิก ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี ซึ่งรายละเอียด คงนำมาเสนอต่อไปเมื่อมีโอกาสน่ะครับ.

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง: " ก่อนอื่นต้องขอสูมาท่านผู้อ่านทุกท่านที่ข้ามบ่ ได้ประติดประต่อเรื่องราว เลยวันเดือนยี่(วันเพ็ญเดือนสิบสอง)มาเสียสองวันก็เนื่องจากมีงานเข้า..."

พระราชพิธีจองเปรียง

   ก่อนอื่นต้องขอสูมาท่านผู้อ่านทุกท่านที่ข้ามบ่ ได้ประติดประต่อเรื่องราว เลยวันเดือนยี่(วันเพ็ญเดือนสิบสอง)มาเสียสองวันก็เนื่องจากมีงานเข้ามาและเตรียมเครื่องสักการะพระเจ้าอินทวิชยานนท์ที่เอาไปบนดอยอินทนนท์อีก มาต่อวันนี้คงให้อภัยกันน่ะครับ มาต่อเลยน่ะครับ
หน้าที่ ๑๑ ถึง หน้าที่ ๑๒

           เปนธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสม
เด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าการพระราชพิธีทั้ง
ปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธสาสนาทุก ๆ พระราชพิธี จึงโปรดให้
มีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าก่อนเวลาที่จะยกเสาโคม พระสงฆ์ที่สวด
มาต์นั้นพระราชาคณะไทย ๑ พระครูปริตไทย ๔ พระราชาคณะ
รามัญ ๑ พระครูปริตรามัญ ๔ รวมเปน ๑๐ รูป เวลาทรงศีลแล้วก่อน
สวดมนต์ มีอาลักษณ์อ่านคำประกาศแสดงเรื่องพระราชพิธี แล
พระราชดำริห์ซึ่งทรงจัดเพิ่มเติม และพระราชทานแผ่พระราชกุศล
แก่เทพยดาทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์ต่อไป เวลา
เช้าพระฤกษ์ทรงรดน้ำสังข์แลเจิมเสาโคมไชยแล้วจึงได้ยก พระ
สงฆ์สวดชยันโตในเวลายกเสานั้นด้วย ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้วถวาย
ไทยทานขวดน้ำมัน, ไส้ตะเกียง, โคม, ให้ต้องเรื่องกันกับพระราช
พิธี การสวดมนต์เลี้ยงพระยกโคมนี้ พระบาทสมเด็จพระจอม
เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไม่ใคร่จะขาด เสาโคมไชยประเทียบ
นั้นตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์แต่เดิมมา มีโคมไชยสามต้น
โคมประเทียบสามต้น เสาใช้ไม้แก่นยาว ๑๑ วา เสาโคมไชย
ที่ยอดเสามีฉัตรผ้าขาวโครงไม้ไผ่ ๙ ชั้น โคมประเทียบ ๘ ชั้น
เสาแลตะเกียงทาปูนขาวตลอด มีหงษ์ลูกพรวนติดชักขึ้นไปให้
มีเสียงดัง ตัวโคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว โคมบริวารเสาไม่ไผ่
๑๐๐ ต้น ฉัตรยอด ๓ ชั้นทำด้วยกระดาษ ปลายฉัตรเปนธง ตัว
โคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษ โคมไชยโคมประเทียบเปนพนักงาน
สี่ตำรวจ โคมบริวารเปนพนักงานตำรวจนอกตำรวจสนม รอบ
พระราชวังมีโคมเสาไม้ไผ่ ตัวโคมข้างในสานเปนชลอม ปิด
กระดาษเปนรูปกระบอกตรง ๆ เปนของกรมล้อมพระราชวังทำปัก
ตามใบเสมากำแพงจำนวนโคม ๒๐๐ ......

              จากในพระราชนิพนธ์นี้ทำให้เราทราบว่าการชักโคมในอดีตนั้นเป็นพิธีอย่างใหญ่ที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเสด็จด้วยพระองค์เองและตัวโคมก็เป็นโคมที่ใช้ไม้ไผ่ทำเช่นปัจจุบันแต่รูปทรงโคมไชยนั้นไม่ทราบรูปทรงแน่นอนจะพยายามค้นหามานำเสนอให้ทราบต่อไป ส่วนโคมบริวารเป็นทรงกระบอกตามที่ทรงพระราชนิพนธ์อย่างชัดเจน ซึ่งยังมีรายระเอียดอีกมากผมจะนำมาเสนอในตอนต่อ ๆ ไป ครับ.

MUSEUM BENJAPON: พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๗ แห่งนครเชีย...

MUSEUM BENJAPON: พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๗ แห่งนครเชีย...: "วันนี้(ที่ ๒๓ พย.)ผมได้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปบนยอดดอยอินทนนท์เพื่อร่วมงานไหว้สาเจ้าหลวง ตามพระประวัติดังนี้ พระนามเดิม เจ้าอินทนนท์ เป็นราชบุต..."

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๗ แห่งนครเชียงใหม่

วันนี้(ที่ ๒๓ พย.)ผมได้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปบนยอดดอยอินทนนท์เพื่อร่วมงานไหว้สาเจ้าหลวง ตามพระประวัติดังนี้ พระนามเดิม เจ้าอินทนนท์ เป็นราชบุตรของเจ้าราชวงศ์มหาพรหมคำคงกับแม่เจ้าคำหล้า ครองราชตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๓ ถึง ๒๔๔๐ เสกสมรส กับแม่เจ้าเทพไกรสร และแม่เจ้าอื่น ๆ มีบุตรธิดา ทั้งหมด ๑๑ ท่าน และที่สำคัญมีสามพระองค์คือ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ ๘ กำเนิดจากแม่เจ้ารินคำ เจ้าแก้วนวรัฐ และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเป็นช่วงที่มีมิชชันารีเข้ามาสอนศาสนาและเปิดโรงเรียนที่ให้การศึกษาแบบตะวันตก คือโรงเรียนชายวังสิงห์คำ(โรงเรียนบรินสรอยแยลส์วิทยาลัย) โรงเรียนพระราชชายา เป็นต้น.

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " ในวันนี้คงเปนสำเนาพระราชโทรเลข และพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ ผู้คองนครเชียง..."

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

       ในวันนี้คงเปนสำเนาพระราชโทรเลข และพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ ผู้คองนครเชียงใหม่ได้ทรงอัญเชิญมาไว้ในหนังสือพระราชประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พิมพ์ในงานถวายพระเพลิง ปี จอ พ.ศ. ๒๔๗๗ และมีด้วยพระราชหัตถเลขารัชชกาลที่ ๗ ที่มีถึงพระราชชายา ฯ อีก หนึ่งฉบับ ดังนี้
หน้าที่ ๕๔ ถึงหน้าที่ ๕๕

                 (สำเนาพระราชโทรเลข)
ที่ ๑๒                         จากปากน้ำโพ
                      วันที่ ๗ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๘
เจ้าดารารัศมี เชียงใหม่
     ได้รับโทรเลขแล้ว เสียดายที่มีเหตุขัดข้อง ไม่มีวันก่อนขึ้น
เรือนที่จะได้ตกแต่งห้อง จะล่องได้เมื่อใดขอให้โทรเลขให้ทราบ
มีความยินดีที่ครูบาให้พระพุทธรูป อยากทราบว่าหน้าตักหรือขนาด
ฐาน กว้างเท่าใด จะได้จัดที่ตั้งไว้รับที่เรือน พระนี้เป็นศิริสำหรับตัว
จะมาทางเรือหรือทางบก ขอให้พามาถึงพร้อมกับตัว จะได้ทันแต่ง
ในการขึ้นเรือน จะได้บอกแม่เล็กให้ตระเตรียมในการที่จะเลี้ยงดู
ฝนกรุงเทพ ณ เวลานี้ชุกนัก น่ากลัวน้ำจะมากอย่างปีกลาย แต่อย่า
วิตก ที่เรือนน้ำไม่ท่วม.

                       (พระบรมนามาภิธัย) สยามมินทร์

  แม่เล็ก คือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาท ส่วนครูบานั้นจะลองสืบค้นดูว่าเปนท่านใดหรือท่านใดที่ทราบแจ้งให้ผมด้วยครับ ต่อไปก็เป็นพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๗ ที่ทรงพระราชทานมายังพระราชชายา ดังนี้

                      พระราชหัตถเลขารัชชกาลที่ ๗
                                        วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๙
ถึง พระราชยายา เจ้าดารารัศมี
      ด้วยเจ้าบุญวาทวงศ์มานิต ฯ เจ้านครลำปางถึงพิลาลัยช้านาน
ยังหาได้ปลงศพไม่ ด้วยลูกหลานผู้ที่จะเป็นผู้มีกำลังพอจะเป็นหัวหน้า
จัการศพไม่มีตัว แลทรัพย์สมบัติของเจ้านครลำปางก็สาปสูญ
ไปเสีย ในเรื่องจัดการมรดกไม่ดีเป็นอันมาก จึงเป็นเหตุให้ศพ
ตกค้างอยู่หลายปีจนป่านนี้ ฉันรู้ สึกสงสารและรำคาญใจ ด้วย
เจ้าบุญวาทวงศ์มานิตเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ในมณฑลพายัพ และมี
ความชอบความดีมาแต่ก่อน หาควรจะให้ศพต้องทิ้งค้างต่อไปไม่
จึงขอตั้งกรรการเจ้านายผู้ใหญ่ในมณฑลพายัพ ซึ่งเป็นญาติวงศ์กับ
เจ้านครลำปาง คือ ให้พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เป็นสถานายิกา
พร้อมด้วยเจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เจ้านครเชียงใหม่ เจ้าจักร์คำขจรศักดิ์
เจ้านครลำพูน เจ้าราชวงศ์ เมืองนครลำปาง ทั้ง ๔ นี้เป็นกรรมการ
ถือรับสั่งจัดการปลงศพเจ้าบุญวาทวงศ์มานิต ฯ เจ้านครลำปาง ถ้า
และจะขอให้รัฐบาลช่วยเหลือประการใด ก็ให้กรรมการแจ้งแก่
สมุหเทศาภิบาลให้ทราบ สุดแต่ให้จัดการสำเร็จได้ดังประสงค์.

                  (พระบรมนามาภิธัย) ประชาธิปก ป.ร.   

 ครับในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ รัชกาลที่ ๗ ก็ยังทรงห่วงใยพระญาติฝ่ายเหนือโดยตลอดมา
         วันนี้ได้ ก็เป็นหน้าสุดท้ายใน พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่เจ้าแก้วนวรัฐ ฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เรียบเรียง พิมพ์ในงานถวานพระเพลิง ปีจอ พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว ถ้าหากท่านได้ตามอ่านตั้งแต่หน้าที่ ๑ ถึง หน้าที่ ๕๕ ก็จะได้ทราบพระประวัติ พระราชกิจ และในช่วงกลาง จะได้ทราบถึงความผูกพันธ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู้หัวพระราชทานต่อพระราชชายาอย่างมากมายอันด้วยความที่พระราชชายาทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน และทรงมีพระอัธยาศัย  พระจริยาวัตรอันงดงาม หนักแน่น และทรงมีวิริยะในราชกิจต่าง ๆ  และที่ทรงความสามารถทางด้านการแสดง พระนิพนธ์ และทรงเป็นที่รักเคาพรของพระบรมวงศสานุวงศ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และเมื่อทรงเสด็จกลับมาประทับยังนครเชียงใหม่ ยังทรงพระราชกิจอย่างต่อเนื่อสร้างคุณูปารต่อชาวล้านนาและยังเป็นสายสัมพันธ์เชื่อต่อระหว่างราชจักรีวงศ์ และราชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ตลอดมา และเนื่องในวันที่ ๙ ธันวาคม นี้จะครบรอบวันสิ้นพระชนม์ จึงเป็นโอกาสที่จะได้รำลึกถึงพระองค์ท่าน จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ไปกราบระลึกถึงพระองค์ท่านยังอนุเสาวรีย์ พระตำหนักดาราภิรมณ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการจัดพิธีสักการะเป็นประจำทุก ปี โดยพร้อมเพรียงกัน ขอบคุณครับ.

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง

MUSEUM BENJAPON: พระราชพิธีจองเปรียง: " วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือน ๑๒ ใต้ ผมขออนุญาติที่อัญเชิญพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้ในเรื่องพระราชพิธีสิ..."

พระราชพิธีจองเปรียง

        วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือน ๑๒ ใต้ ผมขออนุญาติที่อัญเชิญพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้ในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์เปนของพระราชทานในงานพระศพ พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ ปีวอก พ.ศ. ๒๕๖๓ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง กรุงเทพ ฯ ซึ่งพระราชนิพนธ์นี้ทรงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ในหนังสือวชิรญาณ ที่พิมพ์แจกสมาชิกทุกสัปดาห์ ซึ่งพระราชนิพนธ์เพระราชพิธีจองเปรียง นี้มี ตั้งแต่หน้า ๙ ถึง ๑๖ ซึ่งอัญเชิญมาเสนอเปนตอน ๆ ไป ดังนี้
ตอนที่ ๑ หน้าที่ ๙ ถึงหน้า ๑๐

                                  เดือน ๑๒
                       พระราชพิธีจองเปรียง
     การพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฏมณเฑียรบาลว่า
พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม ตรวจดูในความพิศดาร ใน
กฏหมายนั้นเองก็ไม่มีข้อความใด กล่าวถึงเสาโคมแลการจุดโคม
อย่องหนึ่งอย่างใดชัดเจน ฤาจะเปนด้วยเปนการจืด ผู้ที่แต่ง
ถือว่าใคร ๆ ก็เห็นตัวอย่างอยู่แล้วไม่ต้องกล่าว มีความแปลก
ออกมานิดเดียว แต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม แลเดิม
"ลงน้ำ" เข้าอิกคำหนึ่ง คำที่ว่า "ลงน้ำ" นี้จะแปลว่ากระไร
ก็สันนิฐานยาก จะเข้าใจว่าเอาโคมที่เปนโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าที่ชัก
อยู่บนเสามาแต่ต้นเดือนลดลงแล้วไปทิ้งลงในน้ำ ก็ดูเคอะไม่ได้
การเลย ฤาอีกอย่างหนึ่งจะเปนวิธีว่าเมื่อลดโคมแล้ว ลอยกระทง
สมมติว่าเอาโคมนั้นลอยไปตามลัทธิพราหมณ์ ที่พอใจลอยอะไร ๆ
จัดอยู่เช่นกับลอยบาปล้างบาป จะถือว่าเปนลอยเคราะห์ลอยโศก
อย่างใดไปได้ดอกกระมัง การก็ตรงกันกับลอบกระทง ลางที
จะสมมติว่าลอยโคม ข้อความตามกฏมณเฑียรบาลมีอยู่แต่เท่านี้
    ส่วนการพระราชพิธี ซึ่งได้ประพฤติอยู่ในประจุบันนี้นับว่า
เปนพระราชพิธีพราหมณ์ มิได้เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธสาสนาสืบมา
กำหนดที่ยกโคมนั้นตามประเพณีโบราณว่าถ้าปีใดมีอธิกมาศ ให้
ยกโคมตั้งแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งไป จนวันแรมสองค่ำเปนวันลดโคม
ถ้าปีใดไม่มีอธิกมาศ ให้ยกโคมขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนอ้านขึ้นค่ำหนึ่ง
เปนวันลดโคม อีกนัยหนึ่งว่ากำหนดตามโหราสาตรว่าพระอาทิตย์
ถึงราษีพิจิกร พระจันทร์อยู่ราษีพฤศภเมื่อใด เมื่อนั้นเปนกำหนดที่
จะยกโคม อิกนัยหนึ่งกำหนดด้วยดวงดาวกติกาคือดาวลูกไก่
ถ้าเห็นดาวลูกไก่นั้นตั้งแต่ค่ำจนรุ่งเมื่อใด เปนเวลายกโคม การ
ที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเปนเจ้า
ทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายน์ พระพรหม การซึ่ง
ว่าบูชาพระเปนเจ้าทั้งสามนี้เปนต้นตำราแท้ ในเวลาถือไสยสาตร
แต่ครั้งเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธสาสนา ก็กล่าวว่าบูชา
พระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงษพิภพ แลบูชา
พระพุทธบาท ซึ่งปรากฎอยู่ณหาดทรายเรียกว่านะมะทานที เปน
ที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่ แต่ถึงโคมไชยที่อ้างว่าบูชา
พระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเปนพิธีของพราหมณ์
พวกเดียว คือตั้งแต่พระราชพิธีพราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีใน
พระบรมมหาาราชวัง แลเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวัน
ลดโคม เทียนที่จะจุดในโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโคซึ่ง
เปนลัทธิพราหมณ์แท้ ........

       ในวันนี้นอัญเชิญมาเสนอเพียงแค่นี้แล้วจะนำเสนอในวันต่อ ๆ ไป ซึ่งเมื่ออ่านก็คงพอสรุปด้ว่าแต่แรกเริ่มนั้นมีการแขวนโคมที่เป็นโครงไม้ไผ่หุ้มด้วยผ้าแขวนบูชายังเทพพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์อยู่ก่อนแล้วนั้นเองครับ ซึ่งสิ่งที่ยังไม่เปี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้คือการที่โครงโคมใช้ไม้ไผ่และหุ้มด้วยผ้าซึ่งยังทำอยู่ทุกวันนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ครับ.

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

MUSEUM BENJAPON: พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี: " จากพระราชหัตถเลขาฉบับก่อนตอนท้ายทำให้เราได้ทราบว่าพระราชชายาฯทรงเป็นที่รักของทุกท่านทุกพระองค์ในพระบรมหาราชวัง อันเนื่องมาจากพระองค์ได้ทรงป..."

พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

 จากพระราชหัตถเลขาฉบับก่อนตอนท้ายทำให้เราได้ทราบว่าพระราชชายาฯทรงเป็นที่รักของทุกท่านทุกพระองค์ในพระบรมหาราชวัง อันเนื่องมาจากพระองค์ได้ทรงประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลายาวนาน และพระจริยาวัตรอันงดงามแบบล้านนา และการที่ทรงตั้งมั่นอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีแบบล้านนา แม้กระทั่งการแต่งพระองค์ซึ่งจะทรงแต่งแบบล้านนาตลอดเวลาที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังทั้งที่ในขณะนั้นในพระบรมมหาราชวังเจ้านายข้าราชบริพารฝ่ายหญิงจะนุ่งโจง ก็ตาม ต่อไปผมจะนำเสนอสำเนาพระราชโทรเลข ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีขึ้นไป อีกฉบับ ในหนังสือพระราชประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี หน้าที่ ๕๓ ดังนี้
                   ( สำเนาพระราชโทรเลข )
ที่ ๑๐                                            จากปากน้ำโพ
เจ้าดารารารัศมี               วันที่ ๖ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๘
     ได้รับโทรเลขว้นที่ ๕ แล้ว ที่จริงอยากจะให้ลงมาก่อนขึ้นเรือน
จะได้มีเวลาตกแต่งอะไรสะดวก ขัดข้องอย่างเดียวด้วยที่จะให้พัก
เพราะถ้าจะอยู่เรือนใหม่ทีเดียว การขึ้นเรือนกำลังคิดหาอยู่ พัก
เรือนต้นเอาหรือไม่ บ่าวผู้หญิงไปอยู่ที่เรือนได้ทีเดียว บ่าวผู้ชาย
ได้สั่งให้พระยาวรพงศ์ ฯ จัดโรงใหญ่ที่ท่าถนนซางฮี้ ไว้สำหรับจะ
ได้อาศัย และเอาเข้าของขึ้น ถ้าจะเอาเช่นนั้นให้ถึงวันที่ ๒๑ ก็ดี
จะได้สวดมนต์รดน้ำกันเสียก่อนทีหนึ่งเงียบ ๆ ขึ้นเรือนจึงสวดอีก
อยากรู้อีกอย่างหนึ่งว่า การครัวสำหรับจะเลี้ยงพระ และผู้คน จะ
ให้ใครทำดี ถ้าหากว่าเห็นใครควรจะวานได้จะรับบอกเอง และ
จัดการให้ตลอด ถ้าเช่นนี้มีเวลาแต่งเรือน ๒ วัน สิ้นสนุกเต็มทีเสีย
แล้ว กำลังชายเพ็ญจะตายอีกคนหนึ่ง ศพชายอุรุพงศ์จะเผาเดือน ๔
ถ้าหากจะช่วยอื่น ๆ มีครบหมดแล้ว เป็นคนโทดิน โอครอบ เห็น
จะดี เพราะพระใช้เจ้าอธิการหัวเมืองทั้งนั้น สังเค็ด ๗๐.
                                         (พระบรมนามาภิธัย)  สยามินทร์

   ในพระราชโทรเลขฉบับนี้ทรงตรัสถึงเรือนที่สร้างพระราชทานพระราชชายาฯที่พระราชวังดุสิต ส่วนเรือนต้นนั้นหน้าจะเป็นหมู่เรือนไทยที่อยู่ตรงกันข้ามกับพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งมีอ่างหยกขั้นอยู่ และสุดท้ายทรงตรัสถึงพระราชโอรสที่ทรงประชวรสิ้นแล้วและของถวายพระในการพระราชพิธี พระศพ

การ์เรียนเชิญเปิดและชมนิทรรศการ

การ์เรียนเชิญเปิดและชมนิทรรศการ
นิทรรศการตั้งแต่ ๑๕ พย.ถึง ๑๕ ธค.นี้

In this photograph if you know please tell me where they are ?

In this photograph if you know please tell me where they are ?
ภาพถ่ายชุดนี้ คุณพ่อผมถ่ายไว้เป็นจำนวนมากเมื่อ ไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ หกสิบ ถึงเจ็ดสิบปีมาแล้ว ท่านเสียชีวิตไปปี ๒๕๑๓ เอกสารบางอย่างถูกน้ำถ่วมและสูญหาย ทำให้ไม่ทราบถึงสถานที่ในภาพ ถ้าหากท่านทราบกรุณาบอกผมด้วยขอบคุณครับ

In this photograph if you know pleas tell me where they are ?

In this photograph if you know pleas tell me where they are ?
รูปแกะสลักนี้ตั้งอยู่ที่ไหนครับทราบโปรดบอกด้วยครับขอบคุณครับ

Please tell me where they are ?

Please tell me where they are ?
รูปเหล่านี้เป็นเทพฯของอียิปต์ยุกต์โบราณ

Please tell me where they are ?

Please tell me where they are ?
หน้าจะเป็นเทพฯ หรือ ราชินีองค์หนึ่งในอียิปต์โบราณ ถ้าสรวมหมวกรูปบัลลังก์ จะป็นเทพไอซิส

Please tell me were they are ?

Please tell me were they are ?

Please tell me where they are ?

Please tell me where they are ?

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู้หัว

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู้หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช เทิดพระเกียรติในวาระ ๑๐๐ ปี วันสวรรคต ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓ (มีบทความด้านล่าง)

พระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
๑๑๐ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์มิรู้ลืม ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นายเบญจพล สิทธิประณีต.

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระโอรสธิดา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระโอรสธิดา
สมเด็จย่าทรงกับพระโอรสธิดาครั้งทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐรามาธิบดินทร รัชการที่ ๘ สมเด็จย่า ฯ พระอนุชา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐรามาธิบดินทร รัชการที่ ๘ สมเด็จย่า ฯ พระอนุชา
ในหลวงรัชการที่ ๘ สมเด็จย่า และพระอนุชา (ในหลวงรัชกาลที่ ๙)

ทรงงาน

ทรงงาน
พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ ๙ และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงงาน

สมเด็จแม่ฯ

สมเด็จแม่ฯ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

สูจิบัตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๙ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์ มิรู้ลืม

สูจิบัตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๙ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์ มิรู้ลืม
นิทรรศการ ๑๐๙ ปี แสงรวีศรีนครินทร์รุ่งโรจน์ มิรู้ลืม ณ.ศูนย์ศิลป์ศรีพิพัฒน์(แพ บุนนาค) งานเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๙ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ (มีรูปงานนิทรรศการด้านล่าง)

My collection-ภาพเก่าเล่าอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

My collection-ภาพเก่าเล่าอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จพระราชดำเนินวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่(พ.ศ.2501)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)
เสด็จพระราชดำเนินวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาท(พ.ศ.2501)
ทั้งสองพระองค์บริเวณบันไดนาควัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

พระบัวเข็ม

พระบัวเข็ม
พระบัวเข็ม ที่บ้านจะมีจานเชิงใส่นำรองอยู่ด้านล่างองค์พระซึ่งทำจากไม้ลงรักปิดทอง

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
Tn the town by Vimol Siddhipraneet.

The way of life in u.s.a.

The way of life in u.s.a.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A.

The way of life in U.S.A.
In the town.

The way of life in U.S.A

The way of life in U.S.A
In the town.

ภาพถ่ายในสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายในสหรัฐอเมริกา
ถ่ายโดย คุณพ่อวิมล สิทธิประณีต.เมื่อครั้งไปสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา
คุณพ่อวิมล สิทธิประณีต.ถ่าย เมื่อทำงานสำนักข่าวสารอเมริกัน

ภาพถ่ายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
คุณพ่อวิมล สิทธิประณีต.ถ่าย ล้าง และอัดเอง ท่านมีห้องมืดที่บ้าน.